“สารใช้ป้ายขั้วทุเรียน” อันตรายกับผู้บริโภคหรือไม่ แท้จริงมันคือสารอะไร

กรณีมีการแชร์กันทางโซเชียลว่ามีการใช้สารป้ายที่ขั้วทุเรียนนั้น ทาง”เพจสมาคมทุเรียนไทย” ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สมาคมทุเรียนไทย จะมาทำความเข้าใจเรื่อง “สารที่ใช้ป้ายขั้วทุเรียน” ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงว่ามันคือสารอะไร และจะมีอันตรายกับผู้บริโภคหรือไม่

โดยธรรมชาติแล้วการสุกของ “ทุเรียน” นั้นไม่สม่ำเสมอแม้ภายในผลเดียวกันก็ตาม ลักษณะเช่นนี้เป็นปัญหาในการบริโภคและการส่งออก อีกทั้งกระบวนการสุกยังใช้เวลานานอีกด้วย

%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A22 1
สารใช้ป้ายขั้วทุเรียน

กรณีทุเรียนพันธุ์หมอนทองอาจใช้เวลานานถึง 9-13 วัน ขึ้นอยู่กับความแก่ของผล เมื่อใช้เวลานานการสูญเสียน้ำหนักจึงมากเกือบถึง 20% นั่นคือสูญเสียรายได้ 20% ด้วย ดังนั้นการบ่มจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ “ทุเรียน” สุกสม่ำเสมอ ในเวลา 4-6 วันและยังช่วยลดการสูญเสียลงถึงกว่า 10%

การบ่มผลไม้ให้สุกสม่ำเสมอ นิยมใช้เอทิฟอน (ethephon) ซึ่งเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชที่ปลดปล่อยเอทิลีน ( ethylene )มีพิษค่อนข้างต่ำและสลายตัวได้ง่าย มีความคงตัวในสภาพกรดจัด (pH<4) แต่ในสภาพที่กรดน้อยลง (pH>4.5) เช่น เมื่อละลายน้ำหรือเมื่อซึมเข้าในไซโตพลาสซึมของเซลล์พืช สารจึงสลายตัวและปลดปล่อยเอทิลีน ( ethylene )ออกมา

จากการศึกษาล่าสุดในปี พ.ศ.2559 ของ ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล และคณะจากศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้ดำเนินการศึกษาปริมาณสารเอทิฟอน ตกค้างในผลทุเรียนบ่ม พบว่าการบ่มทุเรียนด้วยสารละลายเอทิฟอนในสภาพจำลองการจำหน่ายในประเทศมีสารตกค้างที่เปลือกมากกว่าการบ่มในสภาพจำลองการส่งออกทางเรือซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่า สารจึงมีระยะเวลาในการสลายตัวได้มากกว่า

เมื่อพิจารณาวิธีการบ่ม พบว่า การบ่มทุเรียนโดยการชุบผลในสารละลายเอทิฟอนเข้มข้น 0.2% และ 0.4% มีสารตกค้างในส่วนเปลือกมากที่สุดและมากกว่าการบ่มโดยการป้ายเฉพาะบริเวณรอยตัดที่ก้านผลด้วย ผลทั้งหมดทั้งที่บ่มและไม่บ่ม ไม่พบว่ามีสารตกค้างในส่วนเนื้อผลที่รับประทานได้เกินกว่ามาตรฐานไทย มาตรฐานสากล และมาตรฐานยุโรป

ส่วนมากไม่มีสารตกค้างในส่วนเนื้อเลย มีเพียงบางผลที่พบสารในปริมาณที่น้อยมาก โดยผลที่พบสารตกค้างในส่วนเนื้อมากที่สุดเป็นผลที่บ่มโดยการป้ายขั้วด้วยสารละลายเข้มข้น 52% มีสารตกค้างเพียง 0.190 มิลลิกรัม/เนื้อทุเรียน 1 กิโลกรัม เท่านั้น

ดังนั้นการบ่มผลทุเรียนด้วยสารละลายเอทิฟอนจึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทางสมาคมทุเรียนไทยจึงทำความเข้าใจกับผู้บริโภคให้เข้าใจว่า

  1. ไม่มีชาวสวนทุเรียนคนไหนที่ใช้ยาฆ่าหญ้ามาป้ายขั้วทุเรียนแน่นอน
  2. สารที่ใช้ป้ายขั้วคือ สารเอทิฟอน (ethephon ) ซึ่งมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้นจึงไม่ต้องตื่นกลัว จากการเจอคลิปในโซเชียลต่างๆ