เปิดแนวคิด จาก ส.ป.ก. 4-01สู่…ส.ป.ก.ครุฑน้ำเงิน เป็น “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า แถลงข่าว หลังการประชุม คปก. ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม แต่หลังจากนั้นหลายคนก็มึนตึ๊บ ด้วยความที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องกับเอกสารแถลงข่าว อย่างน้อย ๆ มีหลายจุดที่ไม่เหมือนกัน ผสข.หลายสำนักเช็กข่าวกันให้วุ่น ว่า ใช้อะไรดี ใช้เอกสารทางการนั่นหละครับ

ประเด็น ชื่อเรียก จบที่เอกสารแถลงข่าว “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” ไม่ใช่ชื่อ ”โฉนดเพื่อการเกษตร“ ครุฑที่ใช้ เป็น “สีน้ำเงิน” ไม่ใช่ “เขียว”

มาถึงประเด็นสำคัญ

เปิดไทม์ไลน์ ” โฉนดเพื่อเกษตรกรรม” ซึ่งหลังจากนี้ ส.ป.ก. จะได้นำร่างระเบียบ คปก. ทั้ง 3 ฉบับไปดำเนินการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายต่อไป และจะนำกลับมาให้ คปก. เห็นชอบร่างฉบับสุดท้ายเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 และจะเริ่มแจกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก ได้ทัน วันที่ 15 มกราคม 2567

มาถึงคำถามที่หลายคนอยากรู้

ซื้อขายเปลี่ยนมือได้หรือไม่ ได้ครับ แต่ต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกร และเกษตรกรในที่นี่ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร/หน่วยงานของรัฐ (ตรงนี้ยืดหยุ่นกว่าเดิมที่กำหนดคุณสมบัติเกษตรกรเฉพาะ ต้องรอดูให้ชัดครับว่าตัวที่จะออกมาประชาพิจารณ์จะกำหนดแบบไหน)

ที่มีการซื้อขายกันก่อนหน้านั้นทำอย่างไร เบื้องต้น ตรงไหนที่มีปัญหาจะไม่ออกโฉนดนะครับ การออกจะต้องมีการตรวจสอบสิทธิ และประเด็นที่มีการทำผิดกฎหมาย ใครครอบครองอาจจะต้องเป็นผู้เช่าในที่ดินนั้นแทนการออกโฉนด

S 4530333

แต่ทั้งนี้ระเบียบ คปก. ภายใต้กรอบแนวทางจำนวน 4 ข้อคือ

1) เห็นควรกำหนดชื่อเอกสารว่า “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม”

2) กำหนดแนวทางในการเปลี่ยนมือไว้ 2 วิธี คือ การตกทอดทางมรดก และการซื้อขายหรือการจำนองแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การซื้อขายหรือจำนองกับนายทุน

3) กำหนดให้มีการตรวจสอบติดตามการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยกำหนดโครงสร้างการตรวจสอบที่มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยอาจแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบติดตามทุก 5 ปี โดยมีคณะกรรมการจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานและปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ

4) กำหนดให้มีการบูรณาการโดยนำสหกรณ์การเกษตร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่เป็นการสร้างองค์กรใหม่

สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อเนื่องคือ หน้าตาของร่างระเบียบคปก. ทั้งสามฉบับ ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

แต่ที่แน่ ๆ ด่านหินการทำประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และแน่นอนไม่เพียงแต่พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.เท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกคนเพราะส.ป.ก.เป็นที่ดินของรัฐ การทำประชาพิจารณ์จะมีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ใครอยากได้แบบไหน จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เตรียมตัวกัน