นายกฯพอใจส่งออกสินค้าปศุสัตว์5เดือนกว่าแสนล้านบาท 

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พอใจส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทย 5 เดือนแรกปี 2565 ยอดกว่า 1 แสนล้านบาทกำชับทุกฝ่ายขยายผลและพัฒนาความร่วมมือระหว่างคู่ค้าต่างประเทศในทุกมิติ ผลักดันไทยสู่ผู้นำอาหารโลก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตาม และได้รับทราบผลการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยช่วง 5 เดือนแรกมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมสั่งการต่อเนื่อง กำชับทุกฝ่ายร่วมต่อยอดความสำเร็จพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ สร้างความเชื่อมั่นแก่คู่ค้า พร้อมผลักดันไทยสู่ผู้นำอาหารโลกอย่างยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากความเชื่อมั่นของคู่ค้าต่างชาติในมาตรฐานและคุณภาพการผลิตสินค้าของไทย ส่งผลให้อัตราการส่งออกปัจจุบันเป็นบวกในหลายภาคอุตสาหกรรม 

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤษภาคม) ว่ามีมูลค่ากว่า 106,656.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20.82% และมีปริมาณรวม1,014,611 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.08% 

0DA976D3 29C0 484B 9280 D9ED4F6F00F8

แบ่งเป็นสินค้าประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูป สินค้ากลุ่ม Non-frozen (ไข่ นม น้ำผึ้ง รังนก ซุปไก่สกัด อาหารกระป๋อง ฯลฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) และอาหารปศุสัตว์ ตามลำดับ จากประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาเป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกฯ ในครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากมาตรการผ่อนปรนการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ในบางประเทศ และความต้องการอาหารในหลายประเทศจากผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหาร

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ขยายความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในด้านการค้าและวิชาการ เพื่อผลักดันพัฒนาประเด็นด้านปศุสัตว์ การส่งออกสินค้าเกษตร และปศุสัตว์ของไทยไปจีน เช่น การขึ้นทะเบียนโรงงานเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกไปจีน การขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลการขึ้นทะเบียนฯ รวมถึงการขยายขอบข่ายและกำลังการผลิต การเปิดตลาดโคเนื้อมีชีวิตไปยังประเทศจีน ภายใต้โครงการ Sandbox ปศุสัตว์ อีกทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อดูงานระหว่างประเทศ เป็นต้น 

นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการสร้างฐานอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมงทั้ง 4 สาขา ได้แก่ ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ประมงนอกน่านน้ำ และประมงเพาะเลี้ยง เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งในกลุ่มประมง ฟื้นฟูทะเลไทยให้อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งปฏิรูปกฎหมายให้มีความทันสมัยและเป็นมาตรฐาน พัฒนาการประมงไทยให้กลับมาเข้มแข็งเป็นประเทศผู้นำโลกด้านอาหารทะเลในอนาคต

EF20D9B8 B02E 41A5 A5CE D6D2B15BBB9B

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลก จากข้อได้เปรียบด้านการผลิตสินค้าเกษตร 3 ฐาน คือ พืช ปศุสัตว์ และประมง อีกทั้งไทยมีประสิทธิภาพด้านภาคอุตสาหกรรม และภาคการค้าพาณิชย์แต่จากปัญหาความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงด้านอาหารในหลายประเทศ จึงเป็นโอกาส และความท้าทายของไทยในการเพิ่มศักยภาพด้านการส่งออกอาหารก้าวเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลก 

42C1D395 5EA3 4F5E 98D9 89E03E390B4B

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมขานรับการทำงานตามแนวนโยบายที่กำหนดร่วมพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และอาหารไทยจนเกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งชื่นชมการทำงานที่มีประสิทธิภาพของทุกฝ่ายในการรับมือปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับถึงการให้ความสำคัญและดำเนินงานตามมาตรฐานประเทศต้นทางอย่างเข้มงวด เพื่อความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยนายกฯ เชื่อมั่นว่าการขยายความร่วมมือระหว่างคู่ค้าต่างประเทศ จะยิ่งส่งเสริมไทยในการตลาดให้กว้างขวาง รวมทั้งจะเป็น โอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยให้ก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป” นายธนกรฯ กล่าว