ASF เกมศูนย์ ปศุสัตว์ไทยขึ้นแท่นแชมป์เอเชียคุมโรคเก่งสุด 

“เฉลิมชัย” แจ้งข่าวดี คุม ASF อยู่หมัด หลังล่าสุดตัวเลขติดเชื้อ ในหมูลดลงเป็นศูนย์  สุดยอดความภาคภูมิใจ ปศุสัตว์ไทยติดอันดับโลก ป้องกันควบคุมโรคดีที่สุดในเอเชีย 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ถึงการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ว่า กรมปศุสัตว์ได้รายงาน Zero Report โรค ASF ในสุกร ประจําวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 เวลาที่ออกรายงาน18:48 วันนี้ มีจังหวัดรายงานทั้งสิ้น 72 จังหวัด ไม่พบการระบาดของโรค ASF ในฟาร์มสุกร 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังของไทยไม่พบสุกร ติดโรคระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมา มีเพียง 1 จังหวัดเท่านั้นที่พบใน 30 วัน นอกจากนั้นปลอดโรคมาเกิน 30 วันแล้ว 

จากมาตรการควบคุมโรคที่ออกมาอย่างเข้มข้นของกรมปศุสัตว์ ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในประเทศไทยนั้นกลับมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2565 – ปัจจุบัน ในภาพรวมขณะนี้ในประเทศไทยสามารถควบคุมและกำจัดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศติดอันดับโลก ในการป้องกันควบคุมโรคดีที่สุดในเอเชียหลังล่าสุดตัวเลขติดเชื้อ ASF ในสุกรลดลงเป็นศูนย์  และมีต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงาน อาทิ  ฟิลิปปินส์ได้สอบถามถึงนโยบายและแนวทางควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ในประเทศไทย เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับมาตรการในประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันควบคุมโรคของฟิลิปปินส์ 

D6322EDD 4A12 4D9F 8D95 CD95C5FA967B

ในส่วนของการชดเชยเยียวยาเกษตรกรนั้น ครม.ได้มีการอนุมัติงบประมาณ กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับค่าชดใช้ราคาสุกรและค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย วงเงิน 753.05 ล้านบาท ประกอบด้วย

– ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายที่ยังคงค้างชำระ ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ 16 ต.ค. 64 – 31 มี.ค. 65 ในพื้นที่ 45 จังหวัด เพิ่มเติมที่ตกค้าง 165 ราย รวมเกษตรกร 2,655 ราย เป็นเงิน 231.34 ล้านบาท

– จำนวนสุกรที่ตกค้าง 5,009 ตัว รวม 65,076 ตัว คิดเป็นเงิน 18.61 ล้านบาท

– ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามแผนลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ในปี งบประมาณ 65 ในอัตรา 3% ของฟาร์ม ของจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย-รายเล็ก ซึ่งมีประมาณ 100,000 ราย คิดเป็น จำนวนเกษตรกร 3,000 ราย จำนวน สุกร 60,000 ตัว จำนวนเงิน 402.30 ล้านบาท

– ค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย (อาหารสัตว์) จำนวงเงิน 100.80 ล้านบาท

“วันนี้ ขอให้มั่นใจเราควบคุมโรคได้ดีที่สุดในเอเซีย และที่สำคัญเรามีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการ พร้อมสนับสนุนการกลับมาเลี้ยงใหม่ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการแล้ว ในส่วนของพี่น้องประชาชนรับรองล้านเปอร์เซ็น ไทยมีปริมาณสุกรขุนเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศความต้องการบริโภคอยู่ที่เดือนละ 1.5 ล้านตัว”

ด้านนายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยได้ดำเนินการมีมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกมิติ มีการบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง การยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายประสานงานบูรณาการร่วมมือทุกหน่วยงาน จนสามารถควบคุมป้องกันโรคได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อมีรายงานพบโรคสามารถควบคุมโรคได้อย่างทันที จนผลสำเร็จปัจจุบันสถานการณ์โรคสงบ ไม่พบการรายงานการเกิดโรคแล้ว (ZERO REPORT) ในประเทศไทย ขอให้เชื่อมั่น กรมปศุสัตว์จะดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้ไทยสามารถดำเนินการเพื่อขอคืนสถานะสภาพปลอดโรค ASF จากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ต่อไป” 

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือ www.dld.go.th หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา24 ชั่วโมง