ราชกิจจาฯเผยแพร่ ประกาศกรมปศุสัตว์ สั่งชะลอนำเข้า-ผ่าน ประเทศไทย ซึ่งสัตว์ปีก ซากสัตว์ปีก จากสหราชอาณาจักร

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ปีก หรือซากสัตว์ปีก จากสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2565 โดยมีใจความดังนี้

ด้วยองค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health : WOAH) ได้รายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza : HPAI) ชนิด H5N1 ในหลายพื้นที่ของสหราชอาณาจักร ได้แก่ เทศมณฑล Nottinghamshire เทศมณฑล Shropshire และเทศมณฑล Shetland Islands ซึ่งโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวสามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคหรือซากของสัตว์ซึ่งป่วยหรือตายโดยโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวไปยังท้องที่ต่าง ๆ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ดังกล่าวแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์ปีกและสุขภาพอนามัยของประชาชนในประเทศ

capture 20220827 123457
สั่งชะลอนำเข้าสัตว์ปีกจากสหราชอาณาจักร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อธิบดีกรมปศุสัตว์ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ปีก จำพวกนก ไก่ เป็ด ห่าน หงส์ น้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์ ไข่สำหรับทำพันธุ์ รวมถึงซากของสัตว์ปีกดังกล่าว ที่มีแหล่งกำเนิดจากเทศมณฑล Nottinghamshire เทศมณฑล Shropshire และเทศมณฑล Shetland Islands ของสหราชอาณาจักร

ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับได้เป็นเวลาเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

รายละเอียดประกาศอ่านที่นี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรคไข้หวัดนก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถพบได้ในสัตว์ปีกทั่วโลก สัตว์อาจแสดงอาการป่วยตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมากขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ (strain) ของเชื้อเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรครุนแรงที่สุดคือ ไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza, HPAI) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีโปรตีนที่ผิวเซลล์ ชนิด H5 หรือ H7

โดยส่วนใหญ่แล้ว ไข้หวัดนกสามารถติดต่อได้ในสัตว์ปีกทั้งชนิดที่เป็นสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง สามารถติดเชื้อได้โดยไม่แสดงอาการป่วย

ไก่ มีความไวต่อโรคนี้มากและจะตายเป็นจำนวนมาก เชื้อบางสายพันธุ์สามารถติดต่อสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุกร แมว ม้า สุนัข ได้ด้วย

ในสัตว์ปีก ไข้หวัดนกติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับอุจจาระและสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นระยะเวลานาน และอาจแพร่กระจายไปกับสิ่งของต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น รองเท้า เสื้อผ้า อุปกรณ์ในการเลี้ยง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาจรับเชื้อผ่านการกินสัตว์ปีกที่ติดเชื้อได้

ไก่ ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจะมีอาการซึม ขนยุ่ง และไม่กินอาหาร ถ่ายเหลวเป็นน้ำ เริ่มจากสีเขียวสดแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว หงอนและเหนียงบวมและอาจมีสีคล้ำ อาจมีอาการบวมบริเวณรอบตาและคอ หรือพบจุดเลือดออกจุดเล็ก ๆ บริเวณขา การให้ไข่ลดลงและหยุดออกไข่ในที่สุด ในบางรายที่เชื้อแพร่เข้าสู่สมอง จะทำ ให้มีอาการคอบิด เดินเป็นวงกลมและเป็นอัมพาต

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อจะมีไข้ไอ หายใจลำบากและอาจตายได้

ส่วน คน ติดโรคไข้หวัดนกได้ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วยอย่างใกล้ชิดมาก

ที่ผ่านมาเคยมีรายงานการติดต่อของโรคผ่านจากคนสู่คนแต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

อาการที่พบในคน คือ เนื้อเยื่อรอบตาบวม เยื่อตาขาวอักเสบ มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ (มีไข้ปวดเมื่อยตามร่างกาย) บางรายพบว่าทำให้ตายได้(พบน้อยมาก)