รมช.ประภัตร นำทีมช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยโรคลัมปี สกิน พร้อมมอบ โค–กระบือ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยโรคลัมปี – สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) และมอบโค – กระบือ ให้แก่เกษตรกร ในโครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ พร้อมชี้แจง “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” ณ โรงเรียนอุดมศึกษาพัฒนาการร้อยเอ็ด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีนายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำภาคประชาชน และเกษตรกรเข้าร่วม

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ซึ่งเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานโค– กระบือให้แก่เกษตรกร

306046715 506238911507689 3510503371566883480 n
เยียวยาผู้ประสบภัยโรคลัมปี สกิน

โดยในวันนี้ได้ส่งมอบโคในโครงการฯ ดังกล่าว ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 54 ตัว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีโค – กระบือเป็นของตนเอง ได้ใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อีกทั้งได้มูลโคเป็นปุ๋ยคอก เป็นการลดรายจ่ายและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมอบเงินเยียวยาผู้ประสบภัยโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) ให้แก่เกษตรกรในจังหวัดร้อยเอ็ด วงเงินช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งสิ้น 118,350,250 บาท ให้แก่เกษตรกร 6,172 ราย มีโค – กระบือที่ตายทั้งสิ้นจำนวน 6,770 ตัว” รมช.ประภัตร กล่าว

สำหรับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองร้อยเอ็ด มีเกษตรกรที่ประสบภัยโรคลัมปี – สกิน จำนวน 599 ราย โค – กระบือป่วยตายจำนวน 669 ตัว มูลค่าความเสียหาย 12,619,000 บาท โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ดได้ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณดัวกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ในโอกาสนี้ รมช.ประภัตร ยังได้ชี้แจงและขอความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตร อาชีพนอกภาคเกษตร หรือการลงทุนค้าขาย เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน โดยเน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ในอนาคต โดยวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายและหรือค่าลงทุนจริงของลูกค้าแต่ละรายด้วย

ทั้งนี้ สามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย