ปศุสัตว์เร่งปูพรมตรวจสอบห้องเย็นรอบ 3 สกัดปัญหากักตุนหมู พบสถิติหลังเข้มงวดทำให้ผู้ประกอบการทยอยปล่อยขายจนสต๊อกลดลงอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่พบโรคระบาด ASFในสุกร ทำให้จำนวนเกษตรกรและปริมาณผลผลิตสุกร หายไปจากระบบมากกว่า 50% ส่งผลถึงปัจจุบัน ที่ปริมาณสุกรมีน้อยกว่าความต้องการบริโภค แม้การตรวจสอบจะไม่พบการกักตุนใดๆจากผู้เลี้ยงรายใหญ่ ตามที่นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วย รวมทั้งกรมปศุสัตว์ ระดมตรวจสอบสต๊อกห้องเย็นทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร และให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมมือห้องเย็นต่าง ให้เข้มงวดในการรับฝากสินค้าซากสัตว์แช่แข็งจากผู้ประกอบการ
ทีมข่าว”เรื่องเล่าข่าวเกษตร”ได้ติดตามข้อมูล พบว่า กรมปศุสัตว์ได้จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบการสต๊อกของห้องเย็น ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21 มกราคม – 22 กุมภาพันธ์ 2565 จากห้องเย็น 129 แห่ง พบปริมาณซากสุกร 18,945,060 กิโลกรัม
ส่วนการตรวจสอบ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 7 เมษายน 2565 จากห้องเย็น 129 แห่ง พบปริมาณซากสุกร 13,255,466 กิโลกรัม โดยการตรวจในรอบล่าสุดนี้ พบห้องเย็นที่มีปริมาณการจัดเก็บซากสุกร ลดลง 91 แห่ง จาก 129 แห่ง ปริมาณซากสุกรลดลง 5,689,594 กิโลกรัม หรือ 30%
นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นรอบใหม่ทั่วประเทศ เป็นรอบที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 27-30 เมษายน 2565 ตามที่ได้รับคำสั่งจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เร่งดำเนินการป้องกันการกักตุนสินค้าเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า
โดยสรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการตรวจสอบห้องเย็นประจำวันที่ 30 เมษายน 2565 ไม่พบพบความผิด ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์
ขณะเดียวกัน มีรายงานพื้นที่ที่เข้าตรวจสอบรอบใหม่รอบที่ 3 จำนวน 4 แห่งในจังหวัดปัตตานี ตรวจพบซากสุกร จำนวน 550 กิโลกรัม รวมจำนวนตรวจพบซากสุกรที่พบในห้องเย็นรอบใหม่ (รอบที่ 3)รวมสะสมตั้งแต่ 27-30 เมษายน 2565 รวม 4,698,284.49 กิโลกรัม จากห้องเย็นรอบ 3 ทั้งหมด 48 แห่ง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกร ยังคงรับแบกภาระต้นทุนการเข้มงวดด้านสุขภาพสัตว์และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง และยังคงรอความชัดเจนกับแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ แต่การตรวจสอบห้องเย็นอย่างเข้มข้นมาตลอด ทำให้เห็นนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะตั้งแต่การตรวจรอบที่ 2 ว่า ปริมาณในสต๊อกซากสุกร ลดลงประมาณ 40% เพราะผู้ประกอบการพากันเร่งระบายสินค้าออกสู่ตลาด เชื่อว่า จะทำให้ราคาขายสุกร ปรับลดลงต่อเนื่องจนเข้าสู่สภาวะราคาตลาดปกติ”
โดยรายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 17/2565) รอบวันพระที่ 30 เมษายน2565 จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีราคาดังนี้
- ภาคเหนือ 100/กก.
- ภาคตะวันตก 98-100/กก.
- ภาคตะวันออก 98-100/กก.
- ภาคอีสาน 98-100/กก.
- ภาคใต้ 98/กก.
- ลูกสุกรขุน น้ำหนัก 16 กิโลกรัม ราคาประมาณ 3,400 (บวก/ลบ 96 บาท)