วันที่ 19 กันยายน 65 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าว การจับกุมเนื้อสุกรแช่แข็ง น้ำหนักกว่า 35,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 7.34 ล้านบาท จากกรณีที่มีการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย กรมศุลกากรจึงให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ เข้มงวดในการตรวจค้นจุดที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรเข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค และปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า จากการดำเนินการฯ ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 สามารถจับกุมการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าสูงได้ 3 คดี รวมน้ำหนักกว่า 35,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 7,340,000 บาท
มีรายละเอียด ดังนี้
– เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565 ช่วงเวลา 04.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนปราบปรามเคลื่อนที่เร็ว กองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการตรวจสอบรถยนต์บรรทุกพ่วง จำนวน 2 คัน บริเวณ ถนนซอยกิ่งแก้ว 25/1 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ผลการตรวจสอบพบเนื้อสุกรแช่แข็ง ซึ่งมีเมืองกำเนิดจากต่างประเทศ โดยไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร เอกสารใบอนุญาตนำเข้าหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรน้ำหนักประมาณ 23,000 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท
-เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลา ได้ทำการตรวจค้นยานพาหนะรถยนต์บรรทุก 12 ล้อ บริเวณริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) พบเนื้อสุกรแช่แข็ง มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ บรรจุอยู่ภายในถุงพลาสติกสีฟ้า โดยไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร เอกสารใบอนุญาตนำเข้าหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร จำนวนประมาณ 12,000 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 2.34 ล้านบาท
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า จากสถิติการจับกุมการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งหมด 5 คดี รวม 43,800 กิโลกรัม มูลค่า 8.9 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะเข้มงวดในการจับกุมผู้ที่ลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรมีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทยมากขึ้น
ด้านผศ. ดร. นายสัตวแพทย์ ดุสิต เลาหสินณรงค์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ก่อนหน้านี้เกษตรกรก็หวั่นเกรงว่า ไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จะทำให้เกิดหายนะกับวงการหมูไทย สุดท้ายก็ไม่ใช่และผ่านมากันได้ แต่ก็ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูขยับขึ้นจนทำให้หายนะที่แท้จริงเริ่มก่อตัวขึ้น นั่นคือ ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน ซึ่งบางคนอาจคิดเพียงว่าเนื้อหมูเถื่อนช่วยให้ราคาเนื้อหมูถูกลง แต่นั่นเป็นเพียงแค่มิติเดียว
“ในฐานะสัตวแพทยสาธารณสุขมีความกังวลใจต่อสถานการณ์หมูเถื่อนอย่างมาก เพราะผลกระทบแรกที่เห็นคือเนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้ ไม่ผ่านการตรวจสอบเพื่อควบคุมป้องกันโรคข้ามพรมแดน เชื้อโรคหนึ่งที่วงการหมูไทยกลัวอย่างมากคือ ไวรัส ASF เพราะไวรัสนี้ เคยสร้างความเสียหายไว้อย่างมาก”
ด้าน รศ.ดร.นายสัตวแพทย์ กัมพล แก้วเกษ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื้อหมูเถื่อนมีต้นทุนต่ำกว่าหมูไทย เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นเนื้อหมูที่นำเข้าจากประเทศที่มีปัญหาโรคระบาด ASF และอีกส่วนหนึ่งเป็นเนื้อหมูหมดอายุ แต่ด้วยการโพสต์ขายเกลื่อนสังคมออนไลน์ในราคาที่ถูกมาก จนเป็นที่ล่อตาล่อใจต่อผู้ประกอบการที่ใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ร้านอาหาร ร้านหมูกระทะชาบู ตลอดจนเขียงหมู ผลกระทบนี้ส่งผลต่อวงการหมูไทยอย่างมาก ทำให้ภาวะสมดุลเปลี่ยนไป
เมื่อมีเนื้อหมูในตลาดมาก พ่อค้าย่อมกดราคาหมูเป็น ทำให้ราคาหมูเป็นตกต่ำ จนต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับต้นทุน ขณะที่ผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบจากโรคระบาด กว่าจะกลับมาเลี้ยงใหม่ต้องลงทุนลงแรงไปมากมาย กลับมาเจอสถานการณ์ราคาตกต่ำอีก จะส่งกระทบเป็นลูกโซ่คือ ไม่มีเงินชำระหนี้ ไม่มีเงินชำระค่าสินค้าวัตถุดิบ ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน คนงานในฟาร์มก็ไม่มีเงินไปใช้หนี้ หรือจับจ่ายใช้สอย สถาบันการเงินเสี่ยงต่อการมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าและวัตถุดิบไม่มีรายได้ สุดท้ายผลกระทบก็จะนำไปสู่มหภาค นั่นคือเศรษฐกิจของไทย นี่คือหายนะของจริง