ปศุสัตว์ยันไทยไม่พบกาฬโรคแอฟริกาในม้ากว่า2ปี พร้อมยื่นขอคืนสถานภาพปลอดโรคฯ หนุนแข่งระดับชาติส่งเสริมท่องเที่ยว

กรมปศุสัตว์ ยืนยันประเทศไทยไม่พบกาฬโรคแอฟริกาในม้ามากกว่า 2 ปี พร้อมยื่นขอคืนสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness Free Status) จากองค์การสุขภาพสัตว์โลก(WOAH) หนุนจัดแข่งขันระดับนานาชาติ กระตุ้นการท่องเที่ยว

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์การเกิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness)ในปี 2563 ประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 การระบาดของโรคมีพื้นที่ทั้งหมด 17 จังหวัด มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 610 ตัว และตายสะสม 568 ตัว 

กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้พบโรคครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีรายงานพบกาฬโรคแอฟริกาในม้ามากกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 3 ระยะขอคืนสถานภาพปลอดโรคตามแผนปฏิบัติการกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าเพื่อคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ได้สถานภาพปลอดโรคภายในปี พ.ศ. 2566  

76D8F514 4747 411F A7A4 91B28952F202

จากสถานการณ์ของโรคที่ดีขึ้นมาก กรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และทุกหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือ(MOU)การกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ได้เตรียมพร้อมด้านข้อมูลสำหรับขอรับรองการปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก 

385730C4 FBDB 46D3 9BD6 883F3987CC81

ประกอบกับได้เชิญ Dr.Ann-Susanne Munstermann ที่ปรึกษาจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกมาเยือนประเทศไทยเพื่อให้คำแนะนำการเขียนแฟ้มประวัติหรือแฟ้มข้อมูล (Dossier) เพื่อขอรับรองการปลอดโรคทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมสูงมากที่จะยื่นขอคืนสถานภาพปลอดโรคได้ภายในสิ้นปีนี้ 

ทั้งนี้คณะที่ปรึกษาจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติโดยมีประชุมหารือร่วมกับคณะทำงานด้านไวรัสวิทยา คณะทำงานด้านการเฝ้าระวังโรคในแมลงพาหะ และคณะทำงานเขียนแฟ้มข้อมูล (Dossier) นอกจากนี้ ยังมีกำหนดการเดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและชลบุรี เพื่อติดตามการดำเนินกิจกรรมการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มสัตว์เฉพาะ(sentinel surveillance) ของสวนสัตว์อีกด้วย

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างเร่งรัดเพื่อทำให้ประเทศไทยกลับสู่สถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งการปลอดโรคดังกล่าว จะทำให้สามารถเคลื่อนย้ายม้าระหว่างประเทศได้ตามปกติ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการค้าและการส่งออกม้าเพิ่มรายได้ต่ออุตสาหกรรมการส่งออกม้า ส่งเสริมกิจกรรมการแข่งขันม้าในประเทศทุกประเภททั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สร้างอาชีพและรายได้ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน อาทิ เกษตรกรผู้เลี้ยงม้า ผู้ประกอบการสมาคม ชมรม แรงงาน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

F4DF28C2 C91B 494B 8F05 05F3B8A7834B