สศก.ลงพื้นที่รับทราบปัญหา-ให้คำปรึกษา เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนา

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยส่วนบริหารกองทุนภาคการเกษตร นำโดยนายเอกราช ตรีลพ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการผลิตและการตลาด ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ติดตามผลการดำเนินงานของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนา ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า (Free Trade Area: FTA) โดยสินค้าโคเนื้อและเนื้อโค เป็นสินค้าที่ได้รับผกระทบจากการเปิดเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564

313886032 430256415947367 1655258026522579597 n
เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนา

โดยเฉพาะสินค้าเนื้อโคขุนคุณภาพ (Premium Beef) นั้นเป็นสินค้าที่ผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศทำให้ต้องมีการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพจากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทั้งสองประเทศนี้มีศักยภาพในการผลิตสูงกว่าไทยทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้การนำเข้าสินค้าโคเนื้อมีชีวิต เนื้อโคแช่แข็ง และเครื่องในโคแช่แข็งจะไม่ถูกเก็บภาษี ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นเนื่องจากการแข่งขัน พร้อมกับราคาสินค้าปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนา จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปิดเสรีการค้าดังกล่าว โดยเมื่อปี 2563 เครือข่ายฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวงเงินยืมปลอดดอกเบี้ยจำนวน 30.44 ล้านบาท เงินจ่ายขาดและค่าใช้จ่ายสำหรับกำกับดูแลโครงการ จากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยมีกรมปศุสัตว์ (ปศ.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลการดำเนินงานโครงการฯ

ซึ่งเครือข่ายฯ ได้นำงบประมาณไปใช้ก่อสร้างและปรับปรุงคอกกลาง โรงเก็บอาหาร และอาคารปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้และทักษะในการเลี้ยงโคแม่พันธุ์ และโคขุนที่ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต รับซื้อโคก่อนขุนพันธุ์จากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ และจำหน่ายโคขุนและเนื้อโคชำแหละผ่านบริษัทพรีเมียมบีฟ จำกัด โรงชำแหละของตนเอง และร้านค้าทั่วไป จนสามารถยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ตั้งแต่การผลิตโคต้นน้ำจนถึงตลาดเนื้อคุณภาพสำหรับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้สมาชิกมีแหล่งจำหน่ายที่แน่นอน ได้รับราคาที่เป็นธรรม และมีการประกันราคารับซื้อไม่ต่ำกว่าท้องตลาด ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน FTA ที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการเปิดเสรีทางการค้า

จากการลงพื้นที่ พบว่า ปัจจุบัน เครือข่ายฯ สามารถผลิตเนื้อโคเนื้อลูกผสมพันธุ์ Beefmaster ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มีเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเป็นสมาชิกในเครือข่ายจำนวน 695 ราย

อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การแพร่ระบาดของโรคลัมปิสกิน (Lumpy Skin Disease) และโรคปากเท้าเปื่อยในโค รวมถึงภาวะเศรษฐกิจหดตัวต้นทุนด้านอาหารสัตว์และค่าขนส่งที่สูงขึ้น ส่งต่อการรับซื้อและจำหน่ายโคของเครือข่าย ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลกองทุนฯ และกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จึงได้ลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อปัญหา และร่วมหารือกับกลุ่มเพื่อให้คำปรึกษาในการปรับแผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อันจะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มและเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเลี้ยงโคเนื้อ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายผลักดัน โคเนื้อไทย เป็นสินค้าอุตสาหกรรมระดับพรีเมี่ยม ด้วยการแปรรูปพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน รูปแบบ และบรรจุภัณฑ์ของสินค้า โดยภูมิภาคที่มีการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 46.85 รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ร้อยละ 20.32 17.67 และ 15.16 ตามลำดับ ซึ่งจังหวัดที่เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และนครศรีธรรมราช