นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมประกวดควายใหญ่ ควายงาม เมืองดอกบัว ครั้งที่ 1” โดยมี นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี, หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี, นายอำเภอเขื่องใน, หัวหน้าส่วนราชการอำเภอเขื่องใน,นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย, นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย จ.อุบลราชธานี, เครือข่ายคนรักษ์ควายงาม เมืองอุบลราชธานีและทั่วประเทศ, เกษตรกรผู้เลี้ยงควาย และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม ณ สนามกีฬาโรงเรียนนาคำวิทยา ต.แดงหม้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
มหกรรมประกวดควายใหญ่ ควายงาม เมืองดอกบัว ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างแรงจูงใจในการเลี้ยงควาย เป็นการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ในด้านปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ ตลอดจนอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ควายให้ได้มาตรฐานสู่สากลให้กับเกษตรและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นการกระตุ้นและสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2565 ภายในงานแบ่งประเภทการประกวดควายงาม เป็น 2 ประเภท คือ 1) ประกวดควายท้องถิ่น ควายงามลุ่มแม่น้ำมูล รวมสีดำ เผือก เพศผู้ เพศเมีย ประกอบไปด้วย 6 รุ่น (ตั้งแต่รุ่นอายุ 8 -12 เดือน / 12-18 เดือน / 18-24 เดือน / 24-36 เดือน / 36-48 เดือน / 48-60 เดือน) 2) ประกวดควายทั่วไป ประเภทควายเผือก เพศผู้ เพศเมีย (รุ่นฟันน้ำนม / รุ่นฟันแท้ไม่เกิน 2 คู่) และประเภทควายดำ เพศผู้ เพศเมีย (รุ่นฟันน้ำนม สูงไม่เกิน 140 ซม. / รุ่นฟันน้ำนม สูงเกิน 140 ซม. / รุ่นฟันแท้ไม่เกิน 1 คู่ / รุ่นฟันแท้ไม่เกิน 2 คู่ / รุ่นฟันแท้ไม่เกิน 3 คู่)
กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งความรู้และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยได้รับความสนใจจากประชาชนผู้เลี้ยงทั้งในจังหวัด อุบลราชธานี และจังหวัดอื่น ๆ สามารถรวมพลคนเลี้ยงควาย เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถี คนเลี้ยงควาย และการสร้างเครือข่าย เพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์ควายไทย ให้คงอยู่คู่กับ สังคมไทย และเป็นการสร้างมาตรฐานสู่สากล ให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ควาย คือ สัตว์เศรษฐกิจ เพื่อเกษตรกรที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ที่สำคัญยิ่งควายไทยเป็นควายที่ดีที่สุดในโลก ทั้งพันธุกรรมและการใช้ประโยชน์ ที่มีความแข็งแรง เชื่อง และแสนรู้ ซึ่งที่ผ่านมามีเกษตรกรผู้เลี้ยงพัฒนาควายไทยที่มีโครงสร้างใหญ่ ลักษณะดีตรงตามอัตลักษณ์ จนกลายเป็นที่ต้องการ จนมีราคาทะลุหลักล้านบาท
สำหรับลักษณะควายงาม ต้องมีอ้องคอ (สร้อยคอ) ตาแต้ม แก้มจ้ำ โดยอ้องคอต้องมีเส้นสีขาวเป็นรูปตัว V (วี) ชัดเจน ตาแต้มก็ต้องเห็นชัดเจน แก้มจ้ำ คือมีจุดขาว แข้งขาดำ มีถุงเท้าสีขาว พื้นผิวนวลสะอาด เขากว้าง ใหญ่ อลังการ ตัวสูงยาว สิ่งเหล่านี้เป็นอัตลักษณ์ของควายงาม นอกจากอัตลักษณ์ดังกล่าวแล้วยังต้องทำให้ควายสมบูรณ์ ท้ายเต็ม กล้ามเนื้อชัดเจน ซึ่งความสมบูรณ์เป็นอีกจุดตัดสินสำคัญในการประกวด เพราะควายต่อให้โครงสร้างใหญ่ สูง ลักษณะดี แต่กล้ามเนื้อไม่เต็ม มักไม่ได้รางวัล ด้วยเหตุผลที่ว่า ขาดความสมบูรณ์
ควายงามไม่จำเป็นต้องเลี้ยงฝูงใหญ่ เน้นการคัดเลือกควายที่มีลักษณะดี โครงสร้างใหญ่ ตรงกับความต้องการตลาด เน้นการดูแลที่ดี มีแปลงหญ้าให้แทะเล็มในช่วงเช้า กลางวันได้นอนเล่นน้ำ ลงปลักเล่นโคลน เสริมอาหารข้นบ้าง มีฟาง หรือหญ้าแห้งให้กินเต็มที่ มีโรงเรือนที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ร้อน ให้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ควายก็จะสมบูรณ์พร้อมต่อการนำไปผลิตน้ำเชื้อ หรือผสมพันธุ์