กรมปศุสัตว์เตือนผู้เลี้ยงโคขุนห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ย้ำมีโทษตามกฎหมาย อันตรายต่อผู้บริโภค พร้อมหารือภาคส่วนต่างๆ ออกมาตรการ คุมเข้มห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ตรวจสอบการขายสารเร่งเนื้อแดงผ่านออนไลน์ ตรวจหาการตกค้างในเนื้อโคและโคขุนส่งออก แล้วตรวจสอบย้อนกลับไปยังฟาร์มจนถึงแหล่งผลิต พร้อมบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสุขภาพผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้าในการส่งออกโค
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในโคขุน เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศคู่ค้าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงโคพันธุ์บราห์มัน สมาคมผู้บำรุงพันธุ์ โคพันธุ์บราห์มันแห่งประเทศไทย สมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด สมาคมบีฟมาสเตอร์แห่งประเทศไทย สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด สหกรณ์การเลี้ยง ปศุสัตว์กรป.กลางโพนยางคำ จำกัดสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ บริษัท อิบรอฮิม แอนด์ บีฟ จำกัด บริษัท นิดา ฟู้ด จำกัด รวมถึง ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อร่วมกันพิจารณามาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยได้กำหนดมาตรการ ดังนี้
– สอดส่องและจับกุมการขายสารเร่งเนื้อแดงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยตั้งทีมเฉพาะกิจทางไซเบอร์ขึ้นมาดำเนินการ
– สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อโคเพื่อตรวจหาการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง หากพบจะตรวจสอบย้อนไปยังฟาร์มเลี้ยงโคและแหล่งผลิต
– สุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะในโคขุนที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยใช้ชุดทดสอบภาคสนาม (strip test) เพื่อตรวจสอบการใช้สารเร่งเนื้อแดง
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคขุนที่ใช้ทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบในการเลี้ยงเพื่อให้แลกเปลี่ยนเป็นเนื้อ เพื่อเป็นการลดต้นทุนเกษตรกรบางราย อาจนำสารเร่งเนื้อแดงไปผสมในอาหารสัตว์ เพื่อวัตถุประสงค์เร่งการเจริญเติบโต ลดปริมาณไขมันในเนื้อสัตว์ ตลอดจนเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ และทำให้เนื้อสัตว์สีแดงน่าบริโภค ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนปวดศีรษะ ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตลอดจนหญิงมีครรภ์จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) กำกับ ดูแลความปลอดภัย ในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงแปรรูป ตลอดจนสถานที่จำหน่าย และการส่งออก ซึ่งทุกขั้นตอนการผลิตต้องมีคุณภาพมาตรฐาน ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย มาตรฐานสากล หรือเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์
ที่ผ่านมาได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ 11 คดี มีโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุน ห้ามนำสารเร่งเนื้อแดงมาใช้ในการเลี้ยงโค นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้วยังส่งผลที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอีกด้วย และหากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้สารเร่งเนื้อแดงในโค ให้แจ้งเบาะแสผ่าน Application DLD 4.0 หรือผ่านทางศูนย์รับข้อร้องเรียนกรมปศุสัตว์ โทรศัพท์ 02 6534444 ต่อ 2134