ปศุสัตว์โคราช เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ อากาศหนาวเย็นทำให้ไก่เจ็บป่วย พร้อมกับเร่งให้คำแนะนำการเลี้ยงเพื่อสร้างความอบอุ่นและป้องกันไข้หวัดนก

วันที่ 8 มกราคม 2566 นายบัญชา ชุติมันตานนท์ ปศุสัตว์อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่พื้นที่อำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา และเตือนเกษตรกรให้เอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นจัดไก่จะเริ่มเจ็บป่วยด้วยการปรับสภาพในโรงเรือนให้มีความอบอุ่นแก่ตัวสัตว์ ใช้ผ้าม่านหรือกระสอบมาปิดบังลมรอบโรงเรือน แต่เน้นต้องมีการระบายอากาศ และควรเพิ่มไฟกกเพิ่มความอบอุ่นให้กับสัตว์ที่อายุยังน้อย แต่ไม่ควรสุมไฟให้ไก่ เพราะอาจเกิดอันตรายได้

สำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อให้ใช้แกลบรองพื้นในการเลี้ยง และหมั่นกลับแกลบอย่างน้อย 1-2 วันต่อครั้ง เพื่อป้องกันการเก็บความชื้น ส่วนไก่ไข่ต้องจัดการกับมูลไก่ใต้กรงบ่อยขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากแก๊สแอมโมเนียที่จะมีมากขึ้นในช่วงนี้ และควรเพิ่มอาหารให้มากขึ้น เพื่อไก่จะได้นำพลังงานจากอาหารไปสู้กับความหนาวเย็น พร้อมเข้มงวดกับการทำวัคซีนป้องกันโรคตามระยะเวลาที่กำหนด โดยสามารถเพิ่มวิตามินละลายน้ำให้ไก่กินได้ตามความเหมาะสม

%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%886
เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ อากาศหนาวเย็นอาจทำให้ไก่เจ็บป่วย

ทั้งนี้ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมของทุกปี จะมีการอพยพย้ายถิ่นของฝูงนกชนิดต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อย เช่น เป็ดไล่ทุ่งและไก่บ้านในช่วงนี้ควรนำสัตว์ปีกเข้าไปเลี้ยงภายในโรงเรือนที่มีตาข่ายปิดมิดชิดและมีหลังคาคลุม เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกจากฝูงนกอพยพด้วย

สำหรับเกษตรกรที่สงสัยสัตว์ของตนเองจะเสี่ยงติดเชื้อโรค สังเกตได้จากมีการตายผิดปกติเกินร้อยละ 1 ของสัตว์ทั้งฟาร์มต่อวัน ต้องรีบแจ้งให้ทางสำนักงานปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ใกล้บ้าน เพื่อจะได้เข้าทำการตรวจสอบหาสาเหตุและหาทางแก้ไขปัญหาโดยทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงหน้าหนาว สิ่งที่ผู้เลี้ยงไก่ควรทำ คือ 1.) เสริมผ้าคลุมกันลมโกรกรอบ ๆ เล้า ไม่ว่าจะเป็นผ้ายาง บลูชีท วัสดุที่หาได้ง่าย ๆ คือ กระสอบอาหารสำเร็จรูป นำมาเย็บใช้กันลมโกรกได้ดีมาก และจะทำให้เล้าไก่อบอุ่นขึ้น

2.) เพิ่มอาหารให้ไก่มากขึ้น ไก่จะกินอาหารในช่วงฤดูหนาวมากขึ้นเพื่อนำพลังงานส่วนหนึ่งไปใช้เสริมสร้างไขมันใต้ผิวหนังเพื่อใช้ป้องกันความหนาว เปรียบเสมือนเสื้อกันหนาวของไก่ เรื่องอาหารเพิ่มพลังงาน สามารถเสริมกากหมู เมล็ดทานตะวันน้ำมันพืช หรือน้ำมันมะกอกลงในอาหารไก่ในแต่ละวันได้

3.) เสริมวิตามินสำหรับต้านหวัดด้วย

3.1) วิตามินเอ หรือเบต้าคอโรทีน สามารถดักจับเชื้อโรคที่จะไปทาง หู คอ ตา และจมูก ใช้ป้องกันและรักษาอาหารหวัด หลอดลม โรคปอด ผิวตัวแม่ไก่จะเหลืองหงอนแดงดูสมบูรณ์

3.2) วิตามินอี ช่วยลดและป้องกันอาการอักเสบของเนื้อเยื่อ หลอดลม โรคปอดของแม่ไก่ได้ วิตามินเอและวิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน ควรให้ไก่กินวิตามินทั้งสองตัวนี้คู่กับอาหารที่มีพวกไขมัน เช่น อาหารสำเร็จรูป ข้าวโพด รำ น้ำมัน และเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

3.2) วิตามินดี ไม่เพียงช่วยในกระบวนการเสริมการดูดซึมธาตุแคลเซียม ผลจากการวิจัย วิตามินดี ยังช่วยในเรื่องรักษาโรคทางเดินหายใจ หวัด โรคหลอดลมอักเสบ คอดัง และโรคปอดบวม ในไก่ไข่ในฤดูหนาวได้ด้วย โดยวิตามินดีจะช่วยเพิ่มระดับเปปไทด์ต้านจุลชีพ หรือเป็นยาปฏิชีวนะ ป้องกันการบุกรุกของเชื้อโรค

4.) เสริมวิตามินรวมเป็น 2 เท่า ช่วงหน้าหนาว ไก่ต้องได้รับวิตามินอย่างเข้มข้นเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค จึงควรคำนึงถึงข้อนี้ด้วย และการรักษาด้วยยาเมื่อไก่ป่วย ควรเป็นทางออกสุดท้ายเท่านั้น เพราะถ้าให้วิตามินรวมกับไก่เป็นประจำจะมีโอกาสเป็นโรคได้น้อยกว่าไก่ที่เลี้ยงปกติ โดยวิตามินรวม จะมีส่วนผสมของ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี ที่มีส่วนต้านโรคหวัดและโรคทางเดินหายใจสำหรับไก่อยู่แล้ว

5.) เสริมที่รองพื้นด้วยฟาง เพื่อให้ไก่ได้มีที่นอนสำหรับรักษาความอบอุ่น รักษาความสะอาดและพื้นต้องไม่แฉะหรือมีน้ำขัง เพื่อป้องกันโรคเท้าเปื่อยหรืออาการเท้าบวมเป็นตาปลา

6.) เพิ่มแสงให้ไก่ ปกติฤดูหนาวจะสว่างช้าและมืดเร็ว เมื่อไก่ได้รับแสงน้อย จะมีผลทำให้ต่อมใต้สมองไม่หลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการออกไข่ออกมา ทำให้ไก่ไข่ได้น้อย โดยปกติถ้าไก่ได้แสงน้อย จะอาศัยการเก็บแสงถึง 3 วันสำหรับการออกไข่ 1 ฟอง แสงที่เหมาะสมกับไก่คือ 14-16 ชั่วโมง

7.) ยาปฏิชีวนะ เป็นสิ่งที่ต้องมีติดไว้ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ไก่หายป่วยได้ดีที่สุด