เริ่มแล้ว “โครงการโคบาลจังหวัดชายแดนใต้” ยกระดับโคเนื้อสู่ตลาดฮาลาล สร้างรายได้ชุมชน

​เริ่มแล้ว “โครงการโคบาลจังหวัดชายแดนใต้” ยกระดับโคเนื้อสู่ตลาดฮาลาล สร้างรายได้ชุมชน รัฐบาลตั้งเป้าหมาย มีกลุ่มวิสาหกิจโคไทยเข้าร่วมโครงการ 1,000 กลุ่ม เกษตรกร 10,000 ราย ได้แม่โคพื้นเมือง 50,000 ตัว แบ่งเป็น ระยะนำร่อง 3,000 ตัว ระยะที่สอง 22,000 ตัว ระยะที่สาม 25,000 ตัว พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคของเกษตรกรสู่มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GFM/GAP เพิ่มปริมาณโคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพดีที่เป็นความต้องการของตลาด

วันที่ 27 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้เห็นชอบ “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2565-2571) โดยให้ใช้งบประมาณทั้งหมดจากการกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 1.5 พันล้านบาท ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่เป็นหน่วยดำเนินการยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) โดยเมื่อวานนี้ (26.ม.ค.65) ได้มีการลงนามในสัญญากู้ยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กับวิสาหกิจชุมชนนำร่องในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 13 กลุ่ม และจังหวัดนราธิวาส 1 กลุ่ม รวมวงเงินทั้งสิ้น 54 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการต่อยอดอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ และยกระดับสินค้าโคเนื้อให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง สามารถเจาะตลาดฮาลาลโลก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน นำไปสู่การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน

IMG 64236 20230127102956000000 scaled
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ในระยะเวลา 7 ปีของโครงการโคบาลชายแดนใต้ รัฐบาลตั้งเป้าหมาย มีกลุ่มวิสาหกิจโคไทยเข้าร่วมโครงการ 1,000 กลุ่ม เกษตรกร 10,000 ราย ได้แม่โคพื้นเมือง 50,000 ตัว แบ่งเป็น ระยะนำร่อง 3,000 ตัว ระยะที่สอง 22,000 ตัว ระยะที่สาม 25,000 ตัว ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจโคไทย สามารถกู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับปีที่ 1-3 ปลอดการชำระหนี้เงินต้น ปีที่ 4-7 ชำระคืนเงินต้นร้อยละ 25 ต่อปี และปลอดดอกเบี้ย 7 ปี

%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89
เดินหน้าโครงการโคบาลจังหวัดชายแดนใต้

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า กลุ่มเกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ มากไปกว่านั้น ภายใต้โครงการนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) จำนวน 3 แห่ง (จังหวัดปัตตานี สตูล และนราธิวาส) และจัดตั้งร้านตัดแต่ง แปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อโค (Butcher Shop) จำนวน 5 แห่ง ส่วนแผนการทำงานเริ่มด้วยการสนับสนุนการเลี้ยงแม่โคพันธุ์พื้นเมืองที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ในคอกกลางของหมู่บ้าน มีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นกลไกขับเคลื่อน รวมถึงมีการส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ กลุ่มปลูกพืชอาหารสัตว์ กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ กลุ่มขุนโค กลุ่มแปรรูปเนื้อโค และกลุ่มจำหน่ายเนื้อโค

“รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การมีส่วนร่วมและศักยภาพของท้องถิ่น การส่งเสริมการเลี้ยงโคเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคของเกษตรกรสู่มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GFM/GAP เพิ่มปริมาณโคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพดีที่เป็นความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และตลาดฮาลาลโลก สร้างอาชีพที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่การผลิตโคอีกด้วย” นางสาวรัชดา กล่าว