มกอช. Kick Off ภารกิจผลักดันเชื่อมต่อใบ e-AH และe-FS ของไทยภายใต้ ASW มุ่งเป้าแลกเปลี่ยนข้อมูล เริ่มดีเดย์ภายในปี 2566

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้ นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นประธานการประชุมติดตามสถานะการพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยสัตว์และใบรับรองความปลอดภัยอาหารอิเล็กทรอนิกส์ (e-AH และ e-FS) ของไทย ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมศุลกากร 

1675661066981499 0
พิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น เนื่องจาก มกอช. ในฐานะผู้ประสานหลักด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ของไทยในอาเซียน หรือ ASCP ได้รับมอบหมายภารกิจจากอาเซียนให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในผลักดันการเชื่อมต่อใบ e-AH และ e-FS ของไทย ภายใต้ ASW ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการรับไม้ต่อจากคณะทำงานด้านเทคนิคของ ASW ที่รับหน้าที่โดยกรมศุลกากร ที่ได้ผลักดันการเชื่อมต่อใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) ภายใต้ ASW สำเร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565 

1675661063258521 1
แผนผังระบบเชื่อมต่อใบรับรอง

โดยอาเซียนกำหนดแผนงานการเชื่อมต่อใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-SPS)  ภายใต้ ASW ดังนี้ 1.ใบ e-Phyto เป็นเอกสารแรกของ e-SPS ที่อาเซียนผลักดันให้มีการเชื่อมต่อภายใต้ ASW ซึ่งไทยและอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 2.ใบ e-AH เป็นใบรับรองลำดับถัดไปที่อาเซียนตั้งเป้าหมายให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ภายในปี 2566 และ 3.ใบ e-FS จะพัฒนาการเชื่อมต่อภายใต้ ASW ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อ e-AH

1675661055151457 3

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานะการพัฒนาระบบ e-AH และ e-FS ของกรมปศุสัตว์และกรมประมง โดยขณะนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะสามารถทดสอบการเชื่อมต่อกับ NSW ของกรมศุลกากรได้ภายในเดือนตุลาคม 2566  สำหรับกรมประมง ขณะนี้ได้พัฒนาระบบใบรับรองสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภคและเชื่อมต่อกับ NSW เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนาระบบใบรับรองชนิดอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะคณะทำงานด้านเทคนิคที่เคยผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองชนิดอื่นๆ ภายใต้ ASW เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบในอนาคตต่อไป

fab4e560487ec89e88bfb39b2070f97a7cd95ef36d02a948eb536a3b47698cb4

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างกรณีของใบรับรองสุขอนามัยพืช ก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตร ได้เริ่มเปิดใช้งานระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ e-Phyto นำร่องสำหรับกลุ่มผลไม้สด 22 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าวอ่อน ขนุน กล้วย สับปะรด ส้มโอ มะม่วง มะขามหวาน น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน ส้ม ลิ้นจี่ และชมพู่ ที่ส่งออกไปจีนซึ่งเป็นการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชที่เปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่ใช้กระดาษไปเป็นรูปแบบใหม่ โดยจะเป็นใบรับรองแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า ePhyto โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านช่องทางออนไลน์ ณ จุดใดก็ได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ตลอดจนป้องกันการปลอมเเปลงใบรับรองช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้ปิดการใช้งานระบบคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบกระดาษ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัย (Phytosanitary Certificate: PC) แบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น