ไทยจ่อประกาศ “ปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า” รอประเมินจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก คาดรู้ผลปีนี้

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การเกิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ในปี 2563 และประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ในพื้นที่ 17 จังหวัด มีสัตว์ป่วย 610 ตัว และตาย 568 ตัวนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาล โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

IMG 64667 20230208085102000000
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นางสาวรัชดา กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร รายงานความคืบหน้าการขอคืนสถานภาพปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness : AHS) ในไทย หลังจากที่ไม่มีรายงานพบกาฬโรคแอฟริกาในม้าในประเทศไทยมากว่า 2 ปีแล้วว่า ขณะนี้ กรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำข้อมูลเพื่อขอรับรองการปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) เรียบร้อยแล้ว โดยยื่นเรื่องขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องรอให้คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ทางด้านโรคสัตว์ (Scientific committee) ของ WOAH ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร หากผ่านการพิจารณาประเทศไทยจะได้รับสถานะปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2566 นี้

pic06
ไม่พบกาฬโรคแอฟริกาในม้าในไทย

“เมื่อไทยปลอดโรค AHS แล้ว จะส่งผลให้ไทยสามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าระดับนานาชาติรายการต่าง ๆ ได้ รวมทั้งกิจการการนำเข้า ส่งออกสัตว์กลุ่ม Equids จะสามารถดำเนินการได้ตามปกติภายใต้ข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ รวมถึงจะทำให้สามารถเคลื่อนย้ายม้าระหว่างประเทศได้ตามปกติ อันจะส่งผลต่อการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน” นางสาวรัชดา ย้ำ

S 3145750
ไม่พบกาฬโรคแอฟริกาในม้าในไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness ; AHS) เกิดจากเชื้อไวรัสกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส และเชื้อไวรัสชนิดนี้มีทั้งหมด 9 ซีโรไทป์ ไวรัส AHS สามารถติดต่อในสัตว์ตระกูล Equids ได้แก่ ม้า ลา ล่อ และม้าลาย โดยม้ามีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 95 ในล่อมีอัตราการตายร้อยละ 50 ในลามีอัตราการตายร้อยละ 10 และพบการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการในม้าลาย

การติดต่อ โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ไม่สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงจากม้าสู่ม้าได้ แต่จำเป็นต้องผ่านแมลงดูดเลือด โดยพาหะนำโรคทางชีวภาพที่สำคัญของโรคนี้คือริ้น เมื่อริ้นดูดเลือดม้าที่มีการติดเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ไวรัสจะเพิ่มจำนวนในริ้น และมาอยู่บริเวณต่อมน้ำลายเพื่อส่งผ่านเชื้อต่อเมื่อไปดูดเลือดม้าตัวอื่น

ระยะฟักตัวและอาการทางคลินิก การติดเชื้อตามธรรมชาติมีระยะฟักตัว 2 – 21 วัน โดยทั่วไปมักแสดงอาการหลังรับเชื้อภายใน 9 วัน ซึ่งอาการแบบ Cardiac Form จะใช้เวลาในการพัฒนาโรคนานกว่าอาการแบบ Pulmonary Form ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับปริมาณเชื้อและชนิดของสัตว์ สามารถแบ่งออกได้ 4 รูปแบบ

แบบเฉียบพลันรุนแรง (Pulmonary Form) ม้ามีไข้สูงหลังจากนั้น 1 – 2 วัน พบความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง อัตราการตายสูงถึง 95%

แบบกึ่งเฉียบพลัน (Cardiac Form) เริ่มจากม้ามีไข้ พบเลือดคั่งบริเวณเยื่อเมือก บวมน้ำบริเวณขมับเหนือตา หน้า คอ ไหล่ หน้าอก ม้าจะตายเพราะภาวะหัวใจล้มเหลว

แบบเฉียบพลัน (Mixed Form) ม้ามีอาการร่วมกันทั้ง Pulmonary Form และ Cardiac Form และมักจะตายภายใน 3 – 6 วัน หลังแสดงอาการ อัตราการตายสูงกว่า 70%

แบบไม่รุนแรง (Horse Sickness Fever) มักพบในลา ม้าลาย มักพบมีไข้ต่ำ ซึม เบื่ออาหาร อาการเลือดคั่งบริเวณเยื่อเมือก การบวมน้ำ บริเวณขมับ เหนือตา และเยื่อบุตา มักจะหายจากอาการป่วยภายใน 5 – 8 วัน หลังแสดงอาการ