สศก. ดันศักยภาพสินค้าโคเนื้อสู้เปิดเสรีการค้า เกาะติดโครงการพัฒนาโคเนื้อสุรินทร์วากิว พร้อมผลักดันแหล่งผลิตเนื้อคุณภาพสายพันธุ์ญี่ปุ่น

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) มุ่งสนับสนุนการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการฟาร์มโคเนื้อให้ได้มาตรฐานภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อสุรินทร์วากิวครบวงจรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกร ลดผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) หลายฉบับ เช่น ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย ความตกลงการค้าเสรีไทย – นิวซีแลนด์ และเขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นต้น

337017963 1224628658168314 4059272269316501468 n
ดันศักยภาพสินค้าโคเนื้อสู้เปิดเสรีการค้า

ที่ผ่านมา สศก. ได้สนับสนุนการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมโคเนื้อของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยขับเคลื่อนผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากกองทุน FTA ดังเช่น โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อสุรินทร์วากิวครบวงจรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เกษตรกร โดยมีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้กำกับดูแล มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2564 – 2573) ด้วยงบประมาณจำนวน 21.89 ล้านบาท มีกรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานกำกับดูแล แบ่งเป็นเงินจ่ายขาด 0.6 ล้านบาท เพื่ออบรมเกษตรกรหลักสูตรการจัดการฟาร์มเพื่อผลิตลูกโคต้นน้ำคุณภาพ และหลักสูตรการจัดการฟาร์มโคขุนคุณภาพ ส่วนอีก 21.29 ล้านบาท เป็นเงินยืมปลอดดอกเบี้ย เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อลูกโคหย่านม จำนวน 480 ตัว และค่าอาหารโคซึ่งโครงการฯมีเป้าหมายเพิ่มปริมาณการผลิตโคขุน (โคเนื้อลูกผสมไทยวากิว) ลดต้นทุนการผลิต เน้นถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้การจัดการฟาร์มมาตรฐาน GFM ในเบื้องต้น และพัฒนาไปสู่ฟาร์ม GAP เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อลูกผสมไทยวากิวด้วยการบริหารจัดการเลี้ยงโคขุนรูปแบบคอกกลาง ตลอดจนเพิ่มช่องทางในการแข่งขันเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

337132706 759692672413728 3906320647343867274 n
ดันศักยภาพสินค้าโคเนื้อสู้เปิดเสรีการค้า

ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กองทุน FTA สังกัดสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ จ.สุรินทร์ ลงพื้นที่ติดตามโครงการฯ พบว่า ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจรตำบลสลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้นำงบประมาณเงินจ่ายขาดมาฝึกอบรมสมาชิก 40 ราย จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการจัดการฟาร์มเพื่อผลิตลูกโคต้นน้ำคุณภาพและการจัดการฟาร์มโคขุนคุณภาพ รวมถึงนำเงินยืมปลอดดอกเบี้ยไปจัดซื้อลูกโคหย่านม จำนวน 452 ตัว คิดเป็นร้อยละ 94 ของเป้าหมาย ระยะเวลาการขุน 24 เดือน โดยนำลูกโคมาขุนในคอกกลางที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 แห่ง ซึ่งทั้ง 5 แห่งได้รับมาตรฐาน GFP และมี 2 แห่งได้รับมาตรฐาน GFP ควบคู่ GAP

337509220 1526044011256607 6255942448646945819 n
ดันศักยภาพสินค้าโคเนื้อสู้เปิดเสรีการค้า

ที่ผ่านมา กลุ่มวิสาหกิจฯ สามารถผลิตโคขุนเป็นไปตามแผน โดยใช้ระยะเวลาการขุนเพียง 19 -22 เดือน และจำหน่ายโคขุนไปแล้วจำนวน 12 ตัว มีเกรดคุณภาพไขมันแทรกระดับ 3.0 ขึ้นไป ขนส่งเข้าโรงเชือดของ อบต. สลักได ใช้เวลาบ่มนาน 7 วัน ตัดเกรดไขมันซากและจำหน่ายซาก (แบบยกซาก) ให้กับบริษัทคู่สัญญา รวมทั้งตัดแต่งซากเพิ่มมูลค่าเพื่อจำหน่ายผ่านร้านของกลุ่ม โดยภาพรวมเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงโคขุนอยู่ที่ 75,000 – 80,000 บาท ต่อตัว จำหน่ายในราคา 100,000 – 105,000 บาทต่อตัว ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ จะหักเงินรายได้จากการขายโคของเกษตรกรไว้ตัวละ 11,000 บาท เพื่อรวบรวมไว้สำหรับชำระหนี้กองทุน FTA ส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายลูกโค เฉลี่ยที่ 25,000 บาทต่อตัว

จะเห็นได้ว่า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ถือเป็นแบบอย่างของการดำเนินโครงการฯ ที่มีประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากเกษตรกรมีความรู้ในการผลิตโคเนื้อลูกผสมวากิว ได้รับโคสายพันธุ์ดีจากโครงการ มีการใช้อาหาร TMR (Total Mixed Ration) รวมถึงระบบการจัดการฟาร์มรูปแบบการผลิตแบบคอกกลางที่เป็นไปตามมาตรฐาน GFM ทำให้โคมีความสมบูรณ์ และผลิตภัณฑ์เนื้อโคมีคุณภาพ เนื้อมีความนุ่มเนื่องจากเป็นลูกโคอายุน้อยที่นำมาขุนตั้งแต่หย่านม ระดับไขมันแทรกเกรดคุณภาพ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจากอาหารที่ใช้เลี้ยงโคที่มีธัญพืช รำข้าว ปลายข้าว และฟางข้าวจากข้าวหอมมะลิ ทั้งนี้ กองทุน FTA พร้อมขยายการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ ผลักดันเกษตรกรให้มุ่งดำเนินธุรกิจ พัฒนากระบวนการเลี้ยงโคเนื้อให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ เพื่อให้คู่ค้าเอกชนและเครือข่ายกลุ่มในจังหวัดต่าง ๆ เกิดการยอมรับ และขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โคเนื้อวากิวทั้งตลาดภายใน จ.สุรินทร์ และจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป