ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปตลาดคู่ FTA เดือนม.ค.66 เพิ่ม 8.4% ตลาดอาเซียนเบอร์ 1

รมช.พาณิชย์ “สินิตย์ เลิศไกร ” เผยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดคู่ FTA เดือนม.ค.66 มีมูลค่ากว่า 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.4% ตลาดอาเซียนเบอร์ 1 เพิ่ม 8.6% มีสัดส่วน 86.5% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว เติบโตได้ดี ส่วนสินค้ามาแรงนม UHT นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม ระบุปัจจุบัน 14 ประเทศคู่ FTA ยกเลิกเก็บภาษีนมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยแล้ว เหลือแค่ 4 ประเทศที่ยังเก็บอยู่
         

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการผลิตและการส่งออก รวมทั้งยังเป็นที่นิยมในตลาดอาเซียน โดยได้รับรายงานว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมอันดับที่ 7 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน และในเดือนม.ค.2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 7.8% โดยเป็นการส่งออกไปตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) มูลค่า 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.4% มีสัดส่วนถึง 96.1% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด
         

%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%8C642a35fae8755 1
สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

สำหรับตลาดคู่ FTA ที่การส่งออกขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เช่น อาเซียน ส่งออกมูลค่า 44.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.6% คิดเป็นสัดส่วน 86.5% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด โดยตลาดที่ขยายตัวได้ดี เช่น กัมพูชา เพิ่ม 24.8% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 32.1% และ สปป.ลาว เพิ่ม 8.5% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชที นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต และนมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เป็นต้น ส่วนตลาดอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ฮ่องกง เพิ่ม 21.1% และออสเตรเลีย เพิ่ม 233.3%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า FTA เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ คู่ค้า FTA ของไทย 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมบางส่วนจากไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 21.3-25.5% โยเกิร์ต อัตรา 21.3-29% ชีส อัตรา 22.4-40% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 26.8% โยเกิร์ต อัตรา 28.8% ชีส อัตรา 36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 20-60% สำหรับความตกลง RCEP ญี่ปุ่น จะทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสม จนเหลือ 0% ในปี 2580
         

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินหน้าจัดทำโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายการส่งออกได้ด้วย FTA” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อผลักดันและติวเข้มเกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการโคนมไทย ใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออกไปตลาดการค้าเสรี โดยเฉพาะตลาดอาเซียน (สิงคโปร์ และกัมพูชา) และจีน