ศุลกากรตรวจยึด-ดำเนินคดีสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งตกค้างภายในท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ น้ำหนัก 4.5 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 225 ล้านบาท

สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง แจ้งว่าตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวกรณีนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภาคทั่วประเทศ และผู้แทนกลุ่มเกษตรกรเข้ารับฟังมาตรการป้องกันหมูเถื่อนของกรมศุลกากร ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง หลังพบหมูเถื่อนระบาดหนักกระจายขายทั่วไทย นายสุรเดช ตรงศิริวิบูลย์ ผอ.สทบ. จึงมอบหมายให้นายฐิติพงศ์ คำผุย ผอ.ส่วนบริการศุลกากร 1, นายเศรษฐวุฒิ จันทร์วัฒนะ ผอ.ศูนย์เอกซเรย์ฯและนายประสิทธิ์ ดีจงเจริญ ผอ.ส่วนควบคุมทางศุลกากร รายงานผลการตรวจยึดและดำเนินคดีสินค้าประเภทเนื้อสัตว์แช่แข็งจำนวน 12 แฟ้มคดี (12 ตู้) และสินค้าประเภทเนื้อสัตว์แช่แข็งตกค้างเป็นจำนวน 220 ตู้ พบว่าเป็นสินค้าประเภทสุกรจำนวน 161 ตู้ (น้ำหนัก 4.50 ล้านกิโลกรัม) และสินค้าประเภทเนื้อสัตว์อื่น ๆ จำนวน 59 ตู้ (น้ำหนัก 1.65 ล้านกิโลกรัม) และส่งมอบให้กรมปศุสัตว์นำไปทำลายแล้วจำนวน 13 ตู้ พร้อมทั้งนำสื่อมวลชนลงพื้นที่สังเกตุการณ์การเปิดสำรวจตู้สินค้าตกค้างประเภทเนื้อสัตว์แช่แข็ง ณ ท่า C1 & C2 ท่าเรือแหลมฉบัง

%E0%B8%A8%E0%B8%B8%E0%B8%A5
ศุลกากรยึดสุกรแช่แข็งตกค้างภายในท่าเรือแหลมฉบัง

ทั้งนี้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้กำชับให้ทุกส่วนงานเข้มงวดในการตรวจปล่อยสินค้า เพื่อมิให้เกิดการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าประเภทสุกรที่ผิดกฎหมาย เร่งสำรวจของตกค้างและส่งมอบของตกค้างประเภทสุกรให้กับกรมปศุสัตว์เพื่อนำไปทำลาย พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานฯ ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและกรมปศุสัตว์ เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสในการทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นำนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภาคทั่วประเทศและผู้แทนกลุ่มเกษตรกร เข้ารับฟังมาตรการป้องกันหมูเถื่อนของกรมศุลกากร ณ ท่าเรือแหลมฉบัง หลังพบหมูเถื่อนระบาดหนักกระจายขายทั่วไทย และถึงกับตกใจเมื่อรับทราบข้อมูลการเปิดตู้ตกค้างแล้วพบเป็น “หมูเถื่อน” ทั้งเนื้อและชิ้นส่วนจำนวนมหาศาลหรือราว 4 ล้านกิโลกรัม รวมตัวเรียกร้องตั้ง “คณะทำงานร่วมรัฐ-เกษตรกร” แก้ปัญหาด่วน

“ตัวเลขหมูเถื่อนที่ตรวจพบในตู้มีจำนวนมากขนาดนี้ ส่วนที่เล็ดลอดออกสู่ท้องตลาดนั้นย่อมมากมายกว่านี้มาก จึงส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อราคาหมู ทำให้เกษตรกรไทยต้องเดือดร้อนและเข้าสู่ภาวะขาดทุน ทำไมภาครัฐจึงไม่สามารถจัดการปัญหาให้เด็ดขาดได้ ยิ่งได้มาเห็นมาตรการต่างๆที่กรมศุลฯอธิบาย ยิ่งเข้าใจว่าถ้าทำได้ตามนี้จริงๆ ไม่มีทางเลยที่ของผิดกฏหมายจะเข้ามาได้ขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยและน่ากังวลมาก” นายสุรชัยกล่าว

นายสุรชัยเสนอให้มีการตั้ง “คณะทำงานร่วมรัฐ-เกษตรกร” โดยมีกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล บริหารจัดการ และทำงานร่วมกันในการสกัดช่องทางการนำเข้า เป็นการจัดการปัญหาหมูเถื่อนก่อนเข้าสู่ประเทศไทยให้ได้ผลที่สุด ทั้งนี้เพื่อรักษาอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้คงอยู่ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนไทย เพราะหากหมูเถื่อนยังสามารถลักลอบผ่านช่องทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นด่านใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นจำนวนมหาศาลอย่างไม่เกรงกลัวกฏหมายเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีกับเกษตรกรและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง