สหรัฐฯ ต่อใช้เอดี “กุ้งแช่แข็ง” จากไทยอีก 5 ปี อ้างไม่เก็บอุตสาหกรรมภายในพัง

สหรัฐฯ ประกาศผลลงคะแนนเสียงทบทวนการเก็บอากรเอดีกุ้งแช่แข็งจากไทย รวมอินเดีย จีน เวียดนาม ต่ออีก 5 ปี หลังจากเก็บมาตั้งแต่ปี 48 ให้เหตุผล ถ้ายกเลิก จะทำให้ความเสียหายของอุตสาหกรรมกุ้งในสหรัฐฯ เกิดขึ้นต่อเนื่อง

shrimp 3918529 1280
กุ้งแช่แข็ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USITC) ได้ประกาศผลการลงคะแนนเสียงพิจารณาทบทวนการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) กุ้งน้ำอุ่นแช่เยือกแข็ง ที่นำเข้าจากอินเดีย จีน ไทย และเวียดนาม หรือ Sunset Review รอบที่ 3 หลังจากใช้มาตรการมาแล้วครบ 3 รอบ ๆ ละ 5 ปี หรือใช้มาตรการมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีมติไม่ยกเลิกเก็บอากรเอดี เพราะการยกเลิก จะทำให้ความเสียหายของผู้เลี้ยงกุ้ง และอุตสาหกรรมกุ้งในสหรัฐฯ เกิดขึ้นต่อไป หรือฟื้นคืนจากการนำเข้า ดังนั้น สินค้าจาก 4 ประเทศ ยังต้องเสียอากรเอดีในการนำเข้าสหรัฐฯ ต่อไปอีก 5 ปี จนกว่าจะพิจารณาทบทวนรอบที่ 4 ในเดือน มิ.ย.2571 ซึ่งในส่วนของไทยล่าสุดเสียอากรเอดีที่ 0.57-5.34% จากอัตราที่จัดเก็บครั้งแรกที่ 5.29-6.82%
         

ทั้งนี้ การเก็บภาษีเอดีกุ้งจาก 4 ประเทศ สหรัฐฯ ได้พิจารณาทบทวนอัตราภาษีที่จัดเก็บเป็นประจำทุกปี ล่าสุดเป็นการทบทวนรอบที่ 18 โดยเปิดให้บริษัทที่ถูกเรียกเก็บอากรเอดี ยื่นคำขอเพื่อเปิดการทบทวนมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2566 และจะประกาศผลการทบทวนชั้นที่สุดเดือน ก.พ.2567

สำหรับการทบทวนรอบที่ 3 อุตสาหกรรมกุ้งในสหรัฐฯ และนักการเมือง 5 รายจากรัฐเลี้ยงกุ้ง ได้แก่ หลุยส์เซียนา มิสสิสซิปปี และเท็กซัส ได้ยื่นคำร้องต่อ USITC เพื่อให้ขยายเวลาการเก็บอารต่อไป โดยให้เหตุผลว่า อุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ ไม่เข้มแข็งพอที่จะแข่งขันกับกุ้งนำเข้าจาก 4 ประเทศ ที่ยังวางขายในราคาต่ำกว่ากุ้งที่ผลิตได้ในสหรัฐฯ หาก USITC ยกเลิกการเก็บภาษี จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เพราะกุ้งนำเข้าจะบีบให้กุ้งที่ผลิตในสหรัฐฯ ต้องลดราคาลงจนถึงระดับที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ และอุตสาหกรรมผลิตกุ้งสหรัฐฯ อาจล้มละลาย
         

นอกจากนี้ USITC ยังอยู่ระหว่างการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าชั้นวางของเหล็กอเนกประสงค์จาก 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม และไทย โดยผลการไต่สวนเบื้องต้น พบว่า สินค้าจากมาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนาม และไทย ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ และสินค้าจากอินเดียเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เพราะมีการขายในสหรัฐฯในราคาต่ำ ทั้งนี้ ตามกฎหมายสหรัฐฯ จะต้องไต่สวนให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.2567 และขยายระยะเวลาได้อีก 6 เดือน หากการไต่สวนชั้นสุดท้าย พบว่า สินค้าจากไทย ทำให้ผู้ผลิตสหรัฐฯเสียหายจริง ก็จะประกาศเรียกเก็บอากรเอดีต่อไป