กรมประมงร่วมลงนาม MOU กับ 2 มูลนิธิ ทำการฟื้นฟู “ทรัพยากรชายฝั่ง” สู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ณ อาคารอเนกประสงค์ กรมประมง ดร.อาร์เน่ ฟเยอทอฟท์ เลขาธิการผู้ก่อตั้งมูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ เวิลด์วิว ไคลเมท และนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานกิจกรรมด้านการป้องกัน ฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาระบบนิเวศทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยประสานความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การปล่อยมลพิษทางน้ำ การทำประมงที่เกินศักยภาพ ล้วนส่งผลกระทบต่อ “ทรัพยากรสัตว์น้ำ”

287314835 398736528979509 4547002738065186013 n
MOU ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง

กรมประมงในฐานะหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีภารกิจศึกษา วิจัยและพัฒนาด้านการประมงเพื่อบริหารจัดการ “ทรัพยากรสัตว์น้ำ”ให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมและสามารถใช้ประโยชน์สำหรับการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน จึงได้ประสานความร่วมมือกับ มูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล (WIF) และมูลนิธิ เวิลด์วิว ไคลเมท (WCF) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมรวมถึงการพัฒนาความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 13 Climate Action และเป้าหมายที่ 14 Life Below Water รวมถึงสนธิสัญญาปารีส(Paris Climate Agreement)

ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานกิจกรรมด้านการป้องกัน ฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาระบบนิเวศทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์แหล่งอาศัยและความหลากหลายของ “สัตว์ทะเล” ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล พร้อมขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมสู่การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นด้วย โดยในส่วนของกรมประมง ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวประมงมีการใช้ประโยชน์จาก “ทรัพยากรสัตว์น้ำ” ในปริมาณที่เหมาะสม เป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่ให้เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติพร้อมฟื้นฟู “ทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศทางทะเล” เช่น การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) การจัดตั้งธนาคารสัตว์น้ำชุมชน การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติ รวมทั้งรักษาพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เป็นพื้นที่เลี้ยงตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมประมงยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน เพื่อลดภาวะโลกร้อน ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถดูดซับคาร์บอนไปกักเก็บและเคลื่อนย้ายไปยังพื้นทะเลได้ และยังเป็นการพัฒนาอาชีพและเสริมรายได้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการลงนามความร่วมมือ ทั้ง 3 ฝ่ายได้มีการประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ แนวทางและโอกาสในการพัฒนาสาหร่ายทะเลในประเทศไทย การพัฒนาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม Blue cabon เช่น สาหร่ายทะเล ป่าโกงกาง และหญ้าทะเล เป็นต้น

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ถือเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของกรมประมงในการประสานความร่วมมือกับมูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล และมูลนิธิ เวิลด์วิว ไคลเมท ที่จะทำให้การปกป้อง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรประมง รวมถึงระบบนิเวศชายฝั่งของไทยเกิดความสมดุล และมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน พร้อมเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว