บ้านแม่ก๋อน ชูจุดเด่นสินค้าชุมชน “กล้วยส้มฉาบ ทุ่งข้าวปวง”สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น

แบรนด์ “กล้วยส้มฉาบ ทุ่งข้าวปวง” เป็นผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบของบ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 2 ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ตามแผนงานพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) 3 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ

เกษตรกรที่บ้านแม่ก๋อนใช้พันธุ์กล้วยโบราณ คือ “กล้วยส้ม” หรือมีชื่อเรียกอื่นว่า กล้วยหักมุก หรือหักมุกทองซึ่งเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นภาคเหนือ ตลอดจนภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังมีปลูกอยู่แพร่หลายตามหมู่บ้านต่าง ๆ เมื่อนำมาทำเป็นกล้วยจะมีรสชาติอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมที่แตกต่างจาก กล้วยฉาบของภาคอื่น ๆ

293170355 5377117818994062 5270062240849126008 n
กล้วยส้มฉาบ ทุ่งข้าวปวง

นอกจากนี้ ชาวบ้านทางภาคเหนือยังนิยมนำ “กล้วยส้ม” มาทำข้าวต้มมัดในวันสำคัญ เช่น งานบุญ วันพระใหญ่ เพราะชอบที่รสชาติอร่อยกว่าใช้กล้วยน้ำว้าที่นิยมใช้กัน และสาเหตุที่มีการตั้งชื่อว่า “กล้วยส้ม” เพราะเมื่อกล้วยสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ผลสุกผิวจะเหลืองสวย เนื้อ นุ่ม อร่อย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เหมาะกับคนชอบทานกล้วยที่รสไม่หวานมาก และยังมีสรรพคุณที่ให้วิตามินซีสูง

บ้านแม่ก๋อน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ร่วมกันของ 6 ชาติพันธุ์ สร้างที่อยู่อาศัยเป็นหย่อมบ้านตามชนเผ่าดั้งเดิม 7 หย่อมบ้าน ได้แก่ ลีซู สันต้นเปา ดอยนาหลวง ดอยจะลอ คนเมือง กะเหรี่ยง และใหม่พัฒนา รวมกันประมาณ 276 หลังคาเรือน การพัฒนามีอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ “มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ” เริ่มเข้าไปดำเนินการในปี 2562 แม้มีความหลากหลายในชาติพันธุ์แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ชาวบ้านมีความสามัคคี พร้อมที่จะร่วมกับหน่วยงานในการจัดทำแผนเพื่อ ความอยู่รอด พอเพียง และยั่งยืนในอนาคต

“กล้วยส้มฉาบ ทุ่งข้าวปวง” ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีจุดเด่นน่าสนใจ โดยการใช้วัตถุดิบ “กล้วยส้ม” ที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้านมาแปรรูป ผ่านกระบวนการอบไล่น้ำมัน รสหวานธรรมชาติ ไม่ใส่สารวัตถุกันเสีย มีทั้งแบบกระปุกขนาด 150 กรัม ราคา 90 บาท เป็นแบบไส้มะขาม ไส้เสาวรส และเค็มอบเนย และแบบซองราคา 39 บาท (สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 062-525-6289 หรือ https://m.me/attungkhaopoang/)

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ เข้ามาดำเนินโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) ในพื้นที่บ้านแม่ก๋อนแห่งนี้ เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบที่มีความสามัคคีในการบริหารจัดการของจังหวัดเชียงใหม่ และแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ คนในพื้นที่มีอาชีพมีรายได้อย่างยั่งยืน