เมื่อ “เป็ดบาบารี่” คือทางออกของครอบครัว

ลุงโสน หรือโสน คำสอน เกษตรกรต้นแบบปิดทองหลังพระฯ บ้านโป่งลึก ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เริ่มต้นทำเกษตรบนที่ดิน 35 ไร่ที่ได้รับตกทอดมาจากพ่อตา จากเพียงกล้วยไม่กี่กอ มีป่านุ่นและมีต้นมะม่วงอยู่บ้าง นอกนั้นภรรยาลุงโสนทำไร่ ข้าว ปลูกพริก มะเขือ งา เผือก มัน ไว้รับประทานเป็นหลัก เหลือจึงนำไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านบ้าง รายได้หลักของครอบครัวส่วนใหญ่ จึงมาจากการรับจ้างและหาของป่าขาย

จากนั้นปี 2553 มีโครงการส่งเสริมอาชีพของเกษตรอำเภอ โครงการแปลงตัวอย่าง กรมอุทยานฯ จัดสรรพื้นที่ของชาวบ้านที่เสียสละแปลงมาสร้างเล้าเป็ด เล้าไก่ คอกหมู แปลงผัก ขุดสระน้ำโดยให้ชาวบ้านที่สนใจมาร่วมกันทำเป็นกลุ่มตามความถนัด เป็นการสร้างรายได้ เสริมอาชีพ ลุงโสนจึงได้พันธุ์ “เป็ดบาบารี่“มา 5-6 ตัว

296904406 5436674656371711 3403950626643141624 n

ลักษณะของ “เป็ดบาบารี่” คือ ตัวใหญ่ เนื้อมาก กลิ่นไม่แรงเหมือนเป็ดเทศหรือเป็ดไล่ทุ่ง เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ออกไข่ครั้งละประมาณ 20 ฟอง ปีละ 4-5 ครั้ง การเลี้ยงจะปล่อย ขุดสระไว้ให้เล่น และมีเล้าไว้กันฝน

ช่วงแรกโครงการมีอาหารสำเร็จรูปมาให้แต่ต่อมาชาวบ้านต้องซื้อเอง หลังจากเลี้ยงไป 8-9 เดือนเป็ดก็สามารถผสมพันธุ์กันได้ เมื่อจำนวนเป็ดมากขึ้น ลุงโสนก็เอาต้นกล้วยสับ ขนุนสุก และพืชผักต่าง ๆ มาเป็นอาหารให้ แต่หลังจากนั้น 1-2 ปี สมาชิกก็เริ่มทยอยถอนตัวออกจากโครงการ เพราะว่าที่ตั้งโครงการอยู่ใกลจากชุมชน ทำให้สัตว์และแปลงผักแห้งตาย ลุงโสน จึงนำเป็ดส่วนของตัวเองกลับไปเลี้ยงที่บ้าน เลี้ยงแบบปล่อยเหมือนเดิม ให้เศษอาหารที่เหลือ จากครัวเรือน ให้เป็ดหากินเองช่วงกลางวัน ทำให้เป็ดโตช้าและออกไข่น้อย

กระทั่งในปี 2562 ได้ร่วมเป็นสมาชิกเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นบ้าน จึงได้เริ่มทำเล้าใหม่ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ภายในเล้าได้กั้นแบ่งด้วยตาข่ายลวด แยกไก่ และเป็ด (ลวดตาข่ายป้องกันงูเข้ามากินได้) ภายในเล้าจัดที่ใส่น้ำ ใส่อาหาร พร้อมกับมีรังรองไข่ให้เป็ด

ขณะนั้น ลุงโสน มีเป็ดประมาณ 40 ตัว ไก่ประมาณ 50-60 ตัว โดยตั้งใจว่าจะเริ่มใหม่ เลี้ยงให้ดี และต่อเนื่องเพื่อเป็นรายได้หลักของครอบครัว

นอกจากนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ยังช่วยหาตลาดให้ ที่ผ่านมาแม้จะเลี้ยงอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการเลี้ยงอย่างมีความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ยา การหยอดวัคซีน การเสริมอาหารสำเร็จรูปเพื่อให้เป็ดโตไวและมีคุณภาพ

ส่วนการคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ ตัวผู้ ตัวใหญ่ โครงสร้างดี ลักษณะเป็นจ่าฝูง ตัวเมีย ดูปีกและขนที่สะอาด สวย เมื่อเลี้ยงไป 2-3 ปี ควรต้องเปลี่ยน ซึ่งลุงโสนจะซื้อมาจากคนรู้จัก หรือเอาพ่อ-แม่พันธุ์ ไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเป็ดที่เกิดมาเลือดชิด จะทำให้เป็ดไม่แข็งแรง ไม่ทนโรค ถ้าเปรียบเทียบกับการเลี้ยงไก่ ลุงโสน บอกว่าเป็ดทนโรคมากกว่า

ลุงโสน เล่าต่อไปว่า ตั้งแต่ทำเล้าเสร็จก็ไม่มีอะไรที่ต้องหนักใจ เพราะมีที่อยู่ให้เป็ดแล้ว หลังจากนั้นก็ฝึกให้เป็ดเข้าเล้าโดยใช้อาหารล่อทำ 2-3 ครั้ง เป็ดก็จำช่วงเวลาการเข้า-ออกเล้าได้ ช่วงกลางวันจะปล่อยให้เป็ดลงเล่นน้ำ หากินผักไม้ ใบหญ้า ในป่ากล้วยหรือหากมีเวลาก็หาใบกระถินให้เป็ด เพื่อเสริมธาตุเหล็ก ซึ่งการใช้เวลาในการเลี้ยงไม่นาน เช้าให้อาหาร 10-20 นาที ดูเติมน้ำในถังให้เต็ม ตกเย็นก็เรียกเป็ดมาที่หน้าเล้าให้อาหาร ไม่ต้องใช้เวลาทั้งวัน ระหว่างวันก็ไปทำงานอย่างอื่นภายในแปลง

ที่ผ่านมาเลี้ยง “เป็ดบาบารี่” เพื่อบริโภคและแจกจ่ายญาติพี่น้องเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ขาย แม้ขายก็ได้เงินไม่มาก ลุงโสนบอกว่า ไม่ได้หวังจะได้เงินจากเป็ดเพื่อเลี้ยงครอบครัว แต่หวังให้เป็ดเป็นอาหารของทุกคนที่มีกินไม่ขาด ไม่ต้องไปซื้อ อยากกินเมื่อไหร่ก็ได้ จึงเลี้ยงมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อคนในหมู่บ้านหรือญาติมาเยี่ยมหรือช่วยงานกันธรรมเนียมก็คือต้องเลี้ยงอาหาร ก็ได้เป็ดนี่แหละสำหรับทำกับข้าวเลี้ยงกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติ แบ่งเขา แบ่งเรา ไม่มีอด

สำหรับทิศทางการเลี้ยงเป็ดในอนาคต ลุงโสนมองว่า “เป็ดบาบารี่ “เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีโรค รสชาติดี แต่ไม่ค่อยมีคนเลี้ยง ลุงโสน จึงใช้แปลงของตัวเองเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เป็ดชนิดนี้ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ช่วยเรื่องการหาตลาด และประสานปศุสัตว์อำเภอ เพื่อขอสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ นี่จึงเป็นกำลังใจในการเลี้ยง

ปัจจุบันในหมู่บ้านเริ่มนิยมกินเป็ดบ้างแล้ว ในฤดูท่องเที่ยว หากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดีก็จะสามารถขายได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย