มรดกภูมิปัญญา กลุ่มแม่บ้าน นาราบาฮาเกีย แปลงโฉมกระจูดด้วยงานหัตถกรรม สร้างรายได้จากรุ่นสู่รุ่น

นางสาวโซเฟียนา ลาเต๊ะ หัวหน้าหน่วยพื้นที่ต้นแบบประยุกต์ตามแนวพระราชดำริบ้านโคกยามู ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพงานหัตถกรรม (กระจูด) สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นว่า กลุ่มแม่บ้าน บ้านพรุกาบแดง-โคกยามู ม.7 ต.ไพรวัน มีการสานกระจูดที่สืบทอดภูมิปัญญากันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นงานหัตถกรรมทำมือเกือบทั้งหมดใช้เครื่องมือทุ่นแรงน้อย จนมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าไปส่งเสริมเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายโดยมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นวิทยากรอบรม

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ยังสนับสนุนให้จัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกระจูดนาราบาฮาเกีย” นับเป็นความก้าวหน้าตัวอย่างการพัฒนาจากครัวเรือนพึ่งตนเองสู่การรวมกลุ่มเพื่อต่อยอดสร้างอาชีพ เดิมกลุ่มทำกระจูดแบบสานเป็นเสื่อธรรมดา ขายในหมู่บ้านในชุมชนใกล้เคียงและตลาดในพื้นที่ แต่เมื่อหลายภาคส่วนเข้าไปส่งเสริม พร้อมแนะนำทั้งในเรื่องรูปแบบผลิตภัณฑ์และการตลาดรวมถึงการสร้างแบรนด์ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสามารถขยายตลาดไปสู่ภายนอกชุมชนได้ เกิดรายได้เพิ่ม ทำกำไรเฉลี่ยเดือนละ 15,000บาทและช่วยให้สมาชิกมีรายได้เสริมเฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาท

307289072 5580113378694504 7405582023931429686 n
แปลงโฉมกระจูด สร้างรายได้จากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบัน กลุ่มมีผลิตภัณฑ์จากกระจูดหลากหลาย อาทิ กระเป๋ากระจูดช๊อปปิ้ง เป็นสินค้าขายดีที่สุด, ตะกร้าใส่ของปีใหม่, กระเป๋าเอกสารสายหนัง, ชุดเชตจาน-แก้ว, พัดกระจูด, หมวกกระจูดและที่ใส่ของอเนกประสงค์ ฯลฯ

จุดเด่นงานสานกระจูดนาราบาฮาเกียของกลุ่ม คือ เส้นเล็กนิ่ม มีการคัดสรรเส้นกระจูด 3 รอบ นำไปรีด ย้อมสี และคัดเส้นเท่า ๆ กัน จากนั้นตรวจคุณภาพขนาดกว้าง ยาว ตามมาตรฐานลูกค้าต้องการ ปรับการสานให้ตรงใจตามออเดอร์ลูกค้าซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มส่วนใหญ่จะขายส่งให้กับลูกค้าในกรุงเทพฯ ที่สั่งเป็นของขวัญกับลูกค้าและยังนำไปวางขายในห้างสรรพสินค้าด้วย

น.ส.โซเฟียนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด คำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์กระจูดของกลุ่มลดลง จึงต้องปรับกลยุทธ์จากขายส่งเป็นขายปลีกทางออนไลน์ และร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มาวิจัย เส้นกระจูด การย้อมสีการดูแลเส้นกระจูด เพื่อรักษาคุณภาพเส้นกระจูดทั้งยังร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามต้องการตลาด เช่น แนววินเทจเป็นการเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งการสอนวิธีการใช้อุปกรณ์ในการไลฟ์สด วิธีการพูดโน้มนาวลูกค้าให้กับสมาชิกกลุ่มเพื่อกระตุ้นยอดขายให้มากยิ่งขึ้น

“ชาวบ้านเคยถวายเสื่อกระจูดและเครื่องจักสานจากย่านลิเภาแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ช่วงที่เสด็จมาในหมู่บ้านนี้ และเมื่อปลายปี 2562 ชาวบ้านยังถวายกระจูดผสมผ้าบาติก แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้ชาวบ้านภาคภูมิใจและมุ่งมั่นจะสืบสานงานศิลปาชีพตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” น.ส.โซเฟียนา กล่าว

สำหรับ กระจูดหรือจูด(ชื่อวิทยาศาสตร์: Lepironia articalata) เป็นพันธุ์ไม้จำพวก “กก” (Sedge) ลักษณะลำต้นกลมสีเขียวอ่อน ดินสอดำ สูงประมาณ 1 – 2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่นคล้ายดอกกระเทียมที่ข้างลำต้นใกล้ยอดกระจุกหนึ่ง แต่มีช่อดอกปลายลำต้นอีกหนึ่งช่อซึ่งมีใบเล็กประกอบช่อด้วย

กระจูด ชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขังซึ่งเรียกว่าโพระหรือพรุ มีถิ่นกำเนิดจากทางเกาะมาดากัสการ์ มอริเซียส ลังกา สุมาตรา แหลมมาลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ ในแหลมมาลายู อินโดจีนตอนริมฝั่งทะเล ฮ่องกง บอร์เนียว ตลอดถึงออสเตรเลียริมฝั่งตะวันออก