‘ข้าวเหนียวเขี้ยวงู’ของดีเมืองเชียงราย สินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น คุณค่าโภชนาการสูง

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายในด้านทรัพยากรพันธุกรรมข้าว โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีความแตกต่างไปตามลักษณะของพันธุ์และสภาพพื้นที่ “ข้าวเหนียวเขี้ยวงู” นับเป็นพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์หนึ่งของภาคเหนือและเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงราย โดยศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ได้นำพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู จำนวน 28 สายพันธุ์ มาทำการปลูกศึกษาเพื่อให้ได้สายพันธุ์บริสุทธิ์จนได้สายพันธุ์ “เขี้ยวงู 8974” เป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มีลักษณะเหมาะสมที่สุดและกรมการข้าวได้รับรองพันธุ์เมื่อปี 2558

ทั้งนี้ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู นิยมนํามาทำเป็นข้าวเหนียวมูล สำหรับรับประทานเป็นขนมหวาน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมากจนสร้างชื่อเป็นสินค้าของจังหวัดที่ โดดเด่นอีกชนิดหนึ่ง

309208302 403001802006162 3292457442140697453 n
ข้าวเหนียวเขี้ยวงู

สำหรับจังหวัดเชียงรายได้ส่งเสริมและผลักดันให้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร ชุมชน สถาบันเกษตรกร พ่อค้า และสร้างมูลค่าให้กับจังหวัด ซึ่ง “ข้าวเหนียวเขี้ยวงู” เชียงรายได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561

ทั้งนี้ “ข้าวเหนียวเขียวงู” เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพดีอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยลดคลอเลสเตอรอล เมื่อรับประทานเป็นประจำจึงช่วยป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ โรคปอด

ภาพรวมของสถานการณ์การผลิตข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงูเชียงราย ปี 2564 (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2564) มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดรวม 1,853 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 269 ราย

จากการลงพื้นที่ของ สศท.1 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต พบว่า มีพื้นที่ปลูกรวม 17 อำเภอ แหล่งปลูกสำคัญ 3 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอเวียงชัย อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอพญาเม็งราย สำหรับคุณสมบัติพิเศษของข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่ไวต่อช่วงแสง เกษตรกรจะปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมของทุกปี และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ของทุกปี โดยปีเพาะปลูก 2564/65 เกษตรกรได้ผลผลิตรวม 741 ตัน คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ยปีละ 400 กิโลกรัม/ไร่

ด้านราคาขายข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย ราคาเฉลี่ยปี 2564 ความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา เฉลี่ยอยู่ที่ 11 บาท/กิโลกรัม ในส่วนของการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง (ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม) ราคาเฉลี่ย 40 – 45 บาท/ถุง และข้าวกล้องบรรจุถุงสุญญากาศ ราคาเฉลี่ย 50 – 65 บาท/ถุง

ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 73 จำหน่ายให้กับสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรเพื่อผลิตเป็นข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศจำหน่ายให้ตลาดภายในจังหวัดและนอกจังหวัด ผลผลิตร้อยละ 10 จำหน่ายให้กับโรงสีข้าว ซึ่งโรงสีข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารและจำหน่ายให้ตลาดภายในจังหวัด

รองลงมา ผลผลิตร้อยละ 9.9 จำหน่ายในรูปแบบข้าวเปลือกให้พ่อค้ารวบรวม ผลผลิตร้อยละ 4.5 เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และผลผลิตร้อยละ 2.6 เกษตรกร เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์

ทั้งนี้ สำหรับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ ของข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงรายนั้น จังหวัดเชียงรายและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย (GI) โดยมีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เป็นแหล่งเรียนรู้ รวบรวมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ทางการเกษตร อาทิ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว การแปรรูป และการตลาดออนไลน์ ซึ่งหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่ ได้ส่งเสริมศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน การพัฒนาระบบข้อมูลข้าวอัจฉริยะ เพื่อเฝ้าระวังเตือนภัยการระบาดของโรค หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิต ต้นทุนและผลตอบแทนของข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย จังหวัดเชียงราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สศท.1 โทร. 053 121 318-9 หรืออีเมล [email protected]