อลงกรณ์ นำภาคีเครือข่ายและเกษตรกรอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เป็นประธานเปิดงานอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล “ประเพณีแรกนาเกลือ” โดยมี นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรชาวนาเกลือ จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วม ณ วิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ หมู่ 3 โคกขาม ต.โคกขาม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นการจัดงานประเพณีแรกนาเกลือครั้งแรกของไทย หลังจากที่ได้ห่างหายไปเป็นเวลานาน

315190660 562989985832581 4622469356928655809 n
อนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร จังหวัดสมุทรสาคร เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือ และรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการทำนาเกลือของประเทศ สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การผลิตเกลือทะเลของประเทศไทย กระตุ้นให้เกษตรกรพัฒนาการทำนาเกลือ และเริ่มต้นการผลิตใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ที่มีศักยภาพต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อสืบสานวิถีชีวิตด้านการเกษตร สร้างเครือข่ายด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างอาชีพทางการเกษตร สร้างรายได้ให้กับชุมชนและ และต่อยอดธุรกิจการเกษตร

ทั้งนี้ “ประเพณีแรกนาเกลือ” คือ การประกอบพิธีกรรมการเริ่มทำนาเกลือในฤดูกาลใหม่ ที่จัดขึ้นก่อนเริ่มทำนาเกลือในแต่ละปี คือประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือช่วงหลังออกพรรษา โดยถือฤกษ์ยามอันดีคือตรงกับวันพฤหัสบดีและวันธงชัย ในเวลาเช้าของวัน ตั้งแต่ 07.00 เป็นต้นไป ผู้ทำพิธีจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยชาวนาเกลือมีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลในการทำนาเกลือ ทำให้การทำนาเกลือมีความราบรื่น ไม่มีอุปสรรคและได้ผลผลิตเกลือเป็นจำนวนมากเพื่อให้การทำนาเกลือได้ผลผลิตตามที่ต้องการ และประสบผลสำเร็จในการทำนาเกลือ จึงมีพิธีเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยของมงคล อาทิ ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมขี้หนู ไข่ต้ม หัวหมู เป็ดพะโล้ และผลไม้มงคล 9 อย่าง เป็นต้น

การจัดงานจะเริ่มจากพิธีสงฆ์ โดยพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ รับประเคนภัตตาหารเช้า และให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วจึงเริ่มประกอบพิธีแรกนาเกลือ โดยพราหมณ์หรือเจ้าพิธีทำพิธีบวงสรวงเชิญเทพยดา ถวายเครื่องสักการะเป็นเครื่องบูชาในการประกอบพิธีแรกนาเกลือ ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติจุดธูปเทียนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นำกระทงบรรจุขนมมงคลไปวางอยู่บริเวณหูนา นำพลั่วขุดดินขานานำน้ำแก่เข้านาเพื่อเริ่มการทำนาเกลือทะเล โดยประธานประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พร้อมลั่นฆ้องเพื่อเป็นสัญญาณการเริ่มต้นการแรกนาเกลือ บริเวณนาเกลือเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นอันเสร็จพิธี

ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานภาคีเพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเกลือทะเลเพื่อการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ในด้านต่าง ๆ เช่น ทิศทางในการพัฒนาเกลือทะเลไทยปี2566 –70 จากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กรมส่งเสริมการเกษตร การพัฒนาเกลือทะเลให้มีคุณภาพและมาตรฐาน (GAP เกลือทะเล) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ การแสดงเทคโนโลยีการพัฒนาต้นแบบรถลำเลียงเกลือแบบตัวตักด้านหน้ากึ่งอัตโนมัติ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และการเชื่อมโยงการทำนาเกลือกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การสร้างรายได้เสริมนอกฤดูกาลการทำนาเกลือ

อาทิ การเลี้ยงสัตว์น้ำประมงชายฝั่ง การเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่น และการแปรรูปเกลือทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกลือทะเล เช่น อาหารทะเลแปรรูป แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และร้านอาหารและที่พักที่อยู่ในการท่องเที่ยวเส้นทางเกลือ ภายใต้แนวคิด “Salt Sand Seafood”

“การจัดงานอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาด้านเกลือทะเล “ประเพณีแรกนาเกลือ” ครั้งนี้ ถือเป็นการจัดงานครั้งแรก เพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการประกอบอาชีพทำนาเกลือทะเล ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และปัตตานี ได้นำไปประยุกต์ในการจัดงานในปีต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือ รักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการทำนาเกลือสืบต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว