กัลยา ชู Coding ขยายผล”โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต”สู่ 346 โรงเรียน

วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา และคณะทำงาน “โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน” (Science Technology Innovation (STI) : Smart Intensive Farming) ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนิน“โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน” ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2565 ณ โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม และโรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย

S 4751456
ขยาย”โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต”

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขับเคลื่อน“โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีตในโรงเรียน” (Smart Intensive Farming) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักคิด วิเคราะห์ อย่างเป็นระบบโดยใช้ Coding วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology Innovation : STI) มาบูรณาการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ใน “ภาคการเกษตร” เด็กเกิดทักษะการวางแผน สามารถนำองค์ความรู้มาสู่การปฏิบัติและต่อยอดในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะ “เกษตรกรรม“ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ

โดยในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมาได้กระทรวงศึกษาธิการเปิดโครงการนำร่องใน 6 โรงเรียน ประกอบด้วย 1.โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม จังหวัดเชียงราย, 2.โรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงราย, 3.โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่, 4. โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่, 5.โรงเรียนเวียงมอกวิทยา จังหวัดลำพูน และ 6.โรงเรียนศรีสังวาลย์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

ดังนั้นในปีการศึกษา 2565 นี้ จึงได้มีการขยายผลโครงการไปสู่โรงเรียนในสังกัดเพิ่มอีก 346 โรงเรียน โดยแบ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 237 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 109 โรงเรียน

“โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต” ในโรงเรียนนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม ใช้เวลาเพียง 5-6 เดือนก็สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ทำให้มีโรงเรียนสนใจอยากเช้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากกว่า 600 โรงเรียน แต่ปีการศึกษานี้สามารถคัดเลือกและรับได้เพียง 346 โรงเรียน

อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะดำเนินการขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มากที่สุด แม้จะเป็นโครงการเล็ก ๆ แต่เชื่อว่าจะสามารถสร้างเด็กไทยและคนไทยให้เข้มแข็ง ยกระดับองค์ความรู้ “ด้านเกษตรกรรม”โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ จนสามารถขยายประโยชน์ไปต่อชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า สำหรับการติดตามความก้าวหน้า “โครงการอัจฉริยะเกษตรประณีต” ในโรงเรียน โรงเรียนห้วยสักวิทยาคม และโรงเรียนชุมชนดอยช้าง จังหวัดเชียงรายในครั้งนี้มีผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ในการสร้างองค์ความรู้ทาง “ด้านเกษตรกรรม” โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน เข้ามาใช้ประโยชน์ ในภาคการเกษตร หรือเรียกว่า Coding For Farm ซึ่งทั้ง 2 โรงเรียนเป็นตัวอย่างความสำเร็จได้อย่างชัดเจน ในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่นักเรียน ตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผนและลงมือทำอย่างเป็นระบบ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ให้เป็นทักษะชีวิต เกิดการส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

โอกาสนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้ทำพิธีเปิดร้านกาแฟเด็กดอยช้างคอฟฟี่ ในบริเวณโรงเรียนชุมชนดอยช้าง ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่บริหารจัดการโดยครู นักเรียน และชาวชุมชนดอยช้าง โดยใช้วัตถุดิบ อาทิ เมล็ดกาแฟ และผลผลิตทางการเกษตรจากในชุมชน ถือเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ สร้างประสบการณ์ รวมถึงสร้างรายได้ให้กับเด็กนักเรียนและโรงเรียน