เกษตรฯแจงมาตรการส่งออกมังคุดผลสดไปญี่ปุ่น ย้ำ ไม่ยกเลิก“วิธีอบไอน้ำ”หลังผู้ประกอบการเข้าใจคลาดเคลื่อน

S 4136995
นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว “ผู้ส่งออกมังคุดจันทบุรีบี้รัฐถกญี่ปุ่นแก้กฎ-แตก 1 ลูก ทิ้งยกลอต” ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการบางส่วนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมาตรการการส่งออกมังคุดผลสดไปประเทศญี่ปุ่น ว่ามาตรการอบไอน้ำถูกยกเลิกนั้น

S 31875115



กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอชี้แจงว่า ผู้ประกอบการยังสามารถเลือกใช้ได้ทั้ง 2 วิธีในการส่งออก ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) อนุญาตให้นำเข้ามังคุดผลสดจากประเทศไทยได้ 2 วิธี ได้แก่ (1) มังคุดผลสดที่ผ่านมาตรการอบไอน้ำ (VHT) และ (2) การควบคุมระบบ (System Approach) หรือวิธีไม่ต้องอบไอน้ำ โดยเกษตรกรหรือผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้วิธีที่สะดวกได้ตามความเหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

S 31875117

วิธีที่ 1 การอบไอน้ำ (VHT) โรงอบไอน้ำและโรงคัดบรรจุจะต้องขึ้นทะเบียน มังคุดจะต้องผ่านการอบไอน้ำเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ Bactrocera dorsalis Species Complex จนท.กรมวิชาการเกษตรตรวจเพื่อการส่งออกและกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจประเมินระบบปีละ 1 ครั้ง ข้อดีของวิธีนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการมีความชำนาญ สามารถดำเนินการได้คราวละปริมาณมากๆ

S 31875111



วิธีที่ 2 การควบคุมระบบ (System Approach) หรือวิธีไม่ต้องอบไอน้ำ แต่ต้องคัดเฉพาะผลที่ไม่มีรอยเสียหาย ซึ่งกำหนดว่าหากตรวจพบรอยเสียหายหรือพบแมลงวันผลไม้ สินค้าจะถูกทำลายทั้งลอตการนำเข้า

S 31875112

ทั้งนี้ ในขั้นตอนการเจรจา กรมวิชาการเกษตรเสนอเพียงมาตรการเมื่อตรวจพบแมลงวันผลไม้เท่านั้น แต่ทางกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นระบุให้เพิ่มมาตรการเมื่อตรวจพบรอยเสียหาย ณ ด่านนำเข้าด้วย จึงจะอนุญาตให้ใช้มาตรการทางเลือกใหม่ (ไม่ต้องอบไอน้ำ)

ข้อดีของวิธีนี้ ได้แก่ ผลมังคุดที่ไม่ผ่านการอบไอน้ำสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการอบไอน้ำ แต่มีข้อจำกัด หากตรวจพบรอยเสียหาย ทางการญี่ปุ่นจะไม่อนุญาตให้นำเข้าทั้งลอต

S 31875110


หากผู้ประกอบการสนใจใช้มาตรการไม่ต้องอบไอน้ำ จำเป็นต้องปรับวิธีการดำเนินการโดยเฉพาะขั้นตอนการทำความสะอาดผลมังคุด คัดบรรจุ และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเพื่อป้องกันการถูกสั่งทำลายทั้งลอตเมื่อสินค้าส่งถึงประเทศญี่ปุ่น

สำหรับผู้ประกอบการ เกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานกำจัดศัตรูพืชกักกัน กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

ทั้งนี้ ในปี 2565 (มกราคม – ธันวาคม 2565) ไทยส่งออกมังคุดไปญี่ปุ่นรวม 82 ตัน ญี่ปุ่นจัดเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 8 มีสัดส่วนร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการส่งออกมังคุดทั้งหมด รองจากประเทศจีน ฮ่องกง เวียดนาม เกาหลีใต้ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตามลำดับ