กรมวิชาการเกษตร ประกาศแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ร่วมรัฐ เอกชน เกษตรกร ควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปจีน ตลอดห่วงโซ่อุปทานและขยายการส่งออกผักผลไม้ ไปสหภาพยุโรป ปี พ.ศ. 2567

422702663 796025072557537 9054041754586481289 n
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เชิญ ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก สมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน สมาคมทุเรียนไทย รองประธานคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร และผู้ส่งออก ประชุมหารือเตรียมความพร้อมการส่งออกทุเรียนไปจีนของภาคตะวันออกฤดูกาลส่งออกปี พ.ศ. 2567 ภายใต้นโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี โดยทุเรียนเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

DOA 1148

ทั้งนี้ การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปจีนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย สวน โรงคัดบรรจุ การส่งออก การขนส่ง การตลาด การแปรรูป และการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่มีการบูรณาการของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในแต่ละขั้นตอนเชื่อมโยงกัน ภายใต้ “จันทบุรีโมเดล” พร้อมขยายผลไปทุกภูมิภาคที่ผลิตทุเรียนส่งออกทั่วประเทศ ทำให้มั่นใจได้ว่าการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนในปี พ.ศ. 2567 จะยังคงสดใส ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งในตลาดจีนก็ตาม

DOA 1119.1

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า “Action Plan นี้จะมีประโยชน์ อย่างมากต่อการกำหนดทิศทางในการทำงาน การควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปจีนตลอดทั้ง Supply chain กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งการขึ้นทะเบียนสวน GAP การขึ้นทะเบียน โรงคัดบรรจุ GMP-DOA การตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนตาม มกษ.3-2557 โรงคัดบรรจุโดยชุดปฏิบัติการพิเศษของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) การตรวจสอบศัตรูพืชและการปฏิบัติตามพิธีสารไทย-จีน ณ โรงคัดบรรจุ การออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) โดยด่านตรวจพืช

629388

รวมถึงประสานแก้ไขปัญหาในการส่งออกต่างๆ โดยฤดูกาลส่งออกทุเรียนของภาคตะวันออกปี พ.ศ. 2567 นี้  กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมของกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ สวพ.6 และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีกว่า 180 คน สลับเปลี่ยนหมุนเวียนทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนสิ้นสุดฤดูกาลส่งออก และได้ให้ด่านตรวจพืชเพิ่มผู้จัดการเขตพื้นที่ทุเรียน (DIZ) จากเดิม 6 คน เพิ่มเป็น 9 คน เพื่อให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่ผลิตทุเรียนในจังหวัดอุตรดิตถ์ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี และยะลา และเพิ่มกำลังนายตรวจพืชจากเดิม 44 คน เพิ่มเป็น 60 คน พร้อมให้บริการ อำนวยความสะดวกในการส่งออกแก่ผู้ประกอบการ โดยวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) ขึ้นทะเบียนสวนทุเรียน GAP จำนวน 76,948 สวน  ในจำนวนนี้อยู่ในภาคตะวันออก จำนวน 30,809 สวน และโรงคัดบรรจุ GMP-DOA จำนวน 1,926 แห่ง อยู่ในภาคตะวันออก จำนวน 875 แห่ง เฉพาะในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 801 แห่ง จึงยืนยันได้ว่า จำนวนใบรับรอง GAP ทุเรียนมีอย่างเพียงพอแน่นอน และกรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดหากพบการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP หรือการให้เช่าโรงคัดบรรจุพร้อมกับใบรับรอง GMP-DOA”

629389

สถิติการส่งออกทุเรียนส่งออกไปจีนของกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า ในปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนทั้งหมด 57,000 ตู้/ชิปเม้นท์ ปริมาณสูงถึง 945,900 ตัน มูลค่า 120,469.34 ล้านบาท (จากปีก่อนส่งออก 8.11 แสนตัน มูลค่า 8.7 หมื่นล้านบาท) โดยส่งออกทางรถยนต์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.90 รองลงมาคือทางเรือ ร้อยละ 31.72 ทางอากาศ ร้อยละ 3.21 และทางรถไฟ ร้อยละ 1.17 โดยทุเรียนถูกส่งออกจากประเทศไทยจากด่านนครพนมมากที่สุด รองลงมาคือ ด่านเชียงของ และด่านท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น ทุเรียนไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดจีน ไทยต้องมีการควบคุมคุณภาพทุเรียนให้มีความสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา จันทบุรีโมเดลก็ตอบโจทย์ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี”

DOA 1127

การประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือถึงแผนรองรับเมื่อมีการประกาศใช้ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.9070-2566 เรื่อง “กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร: หลักปฏิบัติในการตรวจ และรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ” โดย มกอช. และ สวพ.6 มีแผนที่จะจัดประชุมทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ขณะที่กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตรเห็นชอบร่วมกันในหลักการที่จะให้เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับฐานข้อมูล GAP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบย้อนกลับ การจัดตั้งกองทุนทุเรียนเพื่อนำรายได้จากการส่งออกมาสนับสนุนการควบคุมคุณภาพทุเรียนทั้งระบบ

DOA 1151

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการขยายการส่งออกสินค้าผักและผลไม้ ไปยังสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร โดยกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเงื่อนไขการจัดการแมลงวันผลไม้ก่อนการส่งออกมะเขือ และพริกให้สหราชอาณาจักรพิจารณาแล้ว รวมถึงอนุญาตให้ส่งออกมะละกอดิบ ที่ผ่านการดำเนินการตามระบบ system approach คือ เก็บเกี่ยวระยะ 90-120 วันหลังดอกบาน หรือแช่น้ำร้อน 46 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 5 นาที หรืออบไอน้ำ 47 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 20 นาที รวมถึงอนุญาตให้ส่งออกมะละกอสุก ที่ผ่านการ แช่น้ำร้อน 46 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 5 นาที หรืออบไอน้ำ 47 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง 20 นาที ซึ่งเป็นมาตรการในการกำจัดแมลงวันผลไม้ รวมถึงอนุญาตให้ส่งออกส้มโอติดเปลือกและส้มโอที่แกะเปลือกชั้นนอกมีนวมสีขาวจากแหล่งผลิตที่ปลอดโรคแคงเกอร์ (Xanthomonas citri pv. aurantifolii และ Xanthomonas citri pv. citri) และโรคจุดดำ (Phyllosticta citricarpa) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เฉพาะที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายเท่านั้น ขณะที่ส้มโอแกะเนื้อที่มีเยื่อบางหรือพร้อมรับประทานสามารถส่งออกได้โดยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว พร้อมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการส่งออกผักผลไม้ไปสหภาพยุโรป เพื่อการดำเนินงานในเชิงบูรณาการของทุกภาคส่วน

09DC7E10 B7F3 49D8 A6E8 150B3539DDA6