กรมวิชาการเกษตร มอบนโยบายกำกับดูแลส่งออก “ลำไย” ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวมอบโยบายกรมวิชาการเกษตรในการกำกับดูแลภารกิจด้านการส่งออกลำไยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้กับผู้เข้ารับการประชุมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุลำไยภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 ณ สำนักงานตลาดการค้าชายแดนไทย – กัมพูชา ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในการประชุมและมีหัวหน้าส่วนราชการ นายกสมาคมการค้า และการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี นายกสมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี ร่วมประชุม

capture 20220713 134911
ลำไยผลไม้เศรษฐกิจ

ลำไย เป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี ที่ส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมาก กรมวิชาการเกษตร ในฐานะผู้กำกับดูแลภารกิจการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุ และการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้กฎ ระเบียบ และเงื่อนไขการส่งออกสินค้าพืช ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ

และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมรองรับฤดูกาลส่งออกลำไยของภาคตะวันออกที่ใกล้จะมาถึง จึงมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้มีความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการส่งออก บริหารจัดการโรงคัดบรรจุได้ตามมาตรฐานโดยมีกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชมาชี้แจง การขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช การต่ออายุ การเปลี่ยนแปลงข้อมูล และการตรวจติดตาม

รวมทั้งประกาศและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรโดยด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง และด่านตรวจพืชจันทบุรี นำเสนอในเรื่องของระบบรับรองสุขอนามัยพืช (E-Phyto) มาตรการตรวจรับรองเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืช และการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช แบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับลำไยสดเพื่อส่งออกไปจีน พร้อมทั้งการเน้นย้ำในเรื่องของการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน Covid-19 ซึ่งนับเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ลำไย” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย มีการส่งออกลำไย ไปยังนานาประเทศทั่วโลก นิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเพราะมีสภาพอากาศที่เหมาะสม จังหวัดที่มีการปลูกลำไยมากในแถบภาคเหนือได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย

และในปัจจุบันเกษตรกรมีการนำสารโพแทสเซียมคลอเรตเข้ามาช่วยกระตุ้นให้ต้นลำไยออกดอกได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะภาคตะวันออกในอำเภอสอยดาวและอำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี รวมมีพื้นที่ปลูกลำไยที่ให้ผลผลิตทั้งประเทศ 1,095,121 ไร่ เป็นผลไม้ที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลำไยสูงในลักษณะผลสด สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นกอบเป็นกำ

ประเทศผู้นำเข้าลำไยที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย และสามารถวางแผนการผลิตลำไยได้ตลอดทั้งปีเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะการ ส่งออกลำไยไปจีน ในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนที่ถือเป็นตลาดหลักการส่งออกลำไยของไทยตรวจสอบรับรองคุณภาพก่อนส่งออกลำไย การควบคุม กํากับ ดูแลส่งออกลําไยไปจีนของไทยนั้น ดำเนินการภายใต้ข้อกําหนดด้านการกักกันโรคและตรวจสอบสําหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคของประเทศจีน ตามมาตรา 9 กําหนดให้ก่อนส่งออกลำไยไปจีน ต้องตรวจสอบสารตกค้างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลําไยไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมโดยกรมวิชาการเกษตร

และปี 2554 ได้มีการพัฒนาระบบควบคุม กํากับดูแลตรวจสอบ โดยเฉพาะระบบการตรวจติดตามและการค้นหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไข เมื่อได้รับการแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารจากประเทศคู่ค้า และนํามาใช้ในการควบคุมการส่งออกลําไยไปจีน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลําไยที่ส่งออกจากไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนด