ส่งออก “ข้าวนึ่ง”หลังบังกลาเทศลดภาษีนำเข้า- บริษัทไทย 2 ราย ได้ไฟเขียวส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศแจ้งข่าวดีส่งออกข้าว บังกลาเทศปรับลดภาษีนำเข้าข้าวนึ่งเหลือ 25% จากเดิม 62.5% เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศ หลังเจอเงินเฟ้อสูงกดดัน ชี้เป็นโอกาสทองของผู้ส่งออกไทย เผยล่าสุดมีบริษัทไทย 2 ราย “เอเชีย โกลเดน ไรซ์-ไทย แกรนลักซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไรซ์” ที่ได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกและมีโอกาสเข้าร่วมประมูล

62d64008cea7d
ส่งออก “ข้าวนึ่ง”หลังบังกลาเทศลดภาษีนำเข้า

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลบังกลาเทศได้ออกประกาศลดหย่อนภาษีนำเข้าและอากรนำเข้าข้าวนึ่งเหลือ 25% จากภาษีและอากรนำเข้าเต็ม 62.5% หรือลดลง 37.5% มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.-31 ต.ค.2565 เนื่องจากปัจจุบันบังกลาเทศกำลังประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 8 ปี และผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม จึงได้ทำการปรับลดภาษีนำเข้า เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศ และเป็นโอกาสสำหรับข้าวนึ่งไทยที่จะเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาดในบังกลาเทศได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เงื่อนไขการนำเข้าข้าว บังกลาเทศจะเปิดประมูลให้ภาคเอกชนที่ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนจากกระทรวงการอาหารของบังกลาเทศมาเข้าร่วมประมูล ซึ่งล่าสุดในปีงบประมาณ 2565–2567 ของบังกลาเทศ โดยตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 ถึง 30 มิ.ย.2567 มีบริษัทไทยที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวของกระทรวงการอาหารบังกลาเทศจำนวน 2 ราย คือ บริษัท Asia Golden Rice จำกัด และบริษัท Thai Granlux International Rice จำกัด ที่มีโอกาสเข้าร่วมประมูลข้าวของบังกลาเทศในครั้งนี้

“ที่ผ่านมา บังกลาเทศเคยเป็นตลาดนำเข้า ข้าวนึ่ง ที่สำคัญของไทย การประกาศปรับลดภาษีนำเข้าข้าวนึ่งของบังกลาเทศ จึงจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับข้าวนึ่งไทยที่จะเข้าไปชิงส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวนึ่งในบังกลาเทศอีกครั้งหนึ่ง”นายพิทักษณ์กล่าว

ในช่วง 5 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) บังกลาเทศนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ทำให้ราคาข้าวไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ขณะที่คุณภาพ มาตรฐาน และรสชาติข้าวไทยยังเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และสถานการณ์ขนส่งทางเรือที่คลี่คลายลง

ข้าวนึ่ง เป็นสินค้าส่งออกข้าวที่สําคัญของไทย และมีปริมาณการผลิตเป็น 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้ทั่วโลก ถึงแม้จะไม่มีการบริโภค “ข้าวนึ่ง” ภายในประเทศ แต่ปีหนึ่ง ๆ ไทยส่งออก ข้าวนึ่ง หลายล้านตัน คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

ในปีพ.ศ. 2557 ไทยผลิตข้าวนึ่งได้ร้อยละ 29.72 จากปริมาณข้าวประเภทสําคัญ ๆ ทั้งหมดที่ผลิตได้ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึง 1,427.67 ล้านเหรียญสหรัฐ การผลิต ข้าวนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณข้าวหักระหว่างการสี ลดการสูญเสียสารอาหารบางส่วนของเมล็ดข้าว และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของข้าวในระหว่างขั้นตอนการผลิต ตลอดจนช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของข้าว และเพิ่มคุณค่าการใช้ประโยชน์จากข้าวเปลือกคุณภาพการสีต่ำ