คกก.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ดันกฎหมายห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผลิตบุหรี่ที่มีส่วนผสมกัญชา

วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 2/2565

จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยหนึ่งในข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าทุกช่องทาง

S 73236489
ดันกฎหมายห้ามผลิตบุหรี่ที่มีส่วนผสมกัญชา

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติผลักดันร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแจ้งและการออกใบรับรอง และอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. …. ซึ่งครอบคลุมถึง การห้ามไม่ให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ ผลิตหรือนำเข้าเพื่อขายผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีส่วนผสมกัญชา กัญชง สาร CBD และสาร THC เป็นส่วนประกอบ เพื่อเป็นการเสริมมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า หลังจากมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการระบุให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก อาจทำให้ประชาชนนำส่วนประกอบของกัญชา เช่น ใบ ยอด ช่อดอก ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อาทิ การนำไปสูบเพื่อสันทนาการจนเกิดเป็นกระแสนิยมการสูบบุหรี่ผสมกัญชา ทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่เลิกยากขึ้น และหากเด็กหรือเยาวชนมีการใช้บุหรี่ผสมกัญชาจะเกิดปัญหาด้านการเรียนรู้ ความจำ อารมณ์และจิตใจ

จึงต้องเร่งควบคุมส่วนประกอบและสารที่ใช้ในการปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์ยาสูบ ป้องกันไม่ให้เกิดการเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคู่กับการลดอันตรายต่อสุขภาพ ลดการสร้างแรงจูงใจในกลุ่มเด็ก เยาวชน ป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ และเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้นโยบาย “กัญชาเสรี” จะเปิดโอกาสให้มีการใช้สารสกัดจากกัญชาในทางการแพทย์และเพื่อความจำเป็นทางสุขภาพได้ง่ายขึ้น เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและการรักษาผู้เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชา แต่หากต้องการให้สามารถใช้กัญชาในการผสมอาหาร เครื่องดื่ม และ ใช้เสพเพื่อสันทนาการแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาผลดีผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบ การทำให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรช่วยกำหนดแนวทางที่เหมาะสมว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดต่อสังคม คุณภาพชีวิตของผู้คน และเศรษฐกิจ

สำหรับกรณีของประเทศไทย เนื่องจากประเทศเรามีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย หากการบังคับใช้กฎหมายไม่ดี การกำกับควบคุมไม่ดี อาจนำมาสู่ผลเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพมากกว่าผลดี

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจทั้งทางด้านการค้าและการผลิตอาจมีมูลค่าเบื้องต้นในไทยอยู่ในระดับหมื่นล้านบาท ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว อาจไม่คุ้มค่ากับความเสียหายทางด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายทางด้านรักษาพยาบาล การถดถอยลงของผลิตภาพการผลิตของแรงงาน

และปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ที่จะติดตามจากการปล่อยให้ มีการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม หรือ เสพเพื่อสันทนาการ การศึกษาวิจัยผลกระทบจากนโยบายกัญชาเสรียังมีอยู่ไม่มาก แต่งานวิจัยเท่าที่มีอยู่ในประเทศที่มีนโยบายกัญชาเสรีและเปิดให้มีการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการและเพื่อการบริโภคบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าได้ไม่คุ้มเสียหากมีระบบการกำกับควบคุมการใช้ไม่ดีพอ