กรมส่งเสริมการเกษตร ชี้ช่วงนี้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด”โรคใบด่างมันสำปะหลัง”- ยึด 6 มาตรการควบคุมเคร่งครัด​

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันพบการระบาดของ“โรคใบด่างมันสำปะหลัง” กระจายตัวเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายแก่ต้นมันสำปะหลังได้ทุกช่วงการเจริญเติบโต ทำให้คุณภาพ และผลผลิตมันสำปะหลังลดลง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงดำเนินโครงการรณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ “โรคใบด่างมันสำปะหลัง” ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี สระแก้ว กำแพงเพชรและจังหวัดชัยนาท

โดยเน้นจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในเรื่องใบด่างมันสำปะหลังให้กับเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดการตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งสามารถประเมินพื้นที่ระบาดและบริหารจัดการโรคได้ด้วยตัวเอง พร้อมขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย สำรวจติดตามการระบาดในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง​

08 2
โรคใบด่างมันสำปะหลัง

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดมาตรการเข้มข้น 6 มาตรการในการป้องกันกำจัด “โรคใบด่างมันสำปะหลัง”

ประกอบด้วย 1) สร้างการรับรู้ โดยได้สั่งการและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ด้านอารักขาพืช เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล ชี้แจงทำความเข้าใจให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบของโรคในทุกโอกาส

2) เฝ้าระวังและป้องกันการระบาด โดยให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงวิธีการสำรวจ การประเมินพื้นที่ระบาดแบบใหม่ การจัดทำแปลงพยากรณ์เตือนการระบาด รวมถึงส่งเสริมการใช้พันธุ์สะอาดและทนทานต่อโรคใบด่าง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 และพันธุ์ระยอง 90 และงดการใช้พันธุ์อ่อนแอ ได้แก่ พันธุ์ CMR 43-08-89 และพันธุ์ระยอง 11 และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้พันธุ์มันสำปะหลังสะอาด

3)ควบคุมการระบาด ด้วยการทำลายต้นเป็นโรค โดยใช้หลักเกณฑ์แบบใหม่ ที่ทำลายเฉพาะต้นที่เป็นโรค ควบคุมการแพร่กระจายของแมลงหวี่ขาวยาสูบที่เป็นพาหะนำโรค และสร้างข้อตกลงร่วมกันของชุมชน

4)ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคใบด่างมันสำปะหลังตามระเบียบกระทรวงการคลัง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

5) ส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยเพื่อการจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลังในระยะยาว ได้แก่ การพัฒนาพันธุ์ต้านทานโรค การใช้เทคโนโลยีลดการแพร่กระจายของโรค

และ 6) สร้างกลไกการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ภูมิภาคถึงส่วนกลาง​

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ทั้ง 55 จังหวัด ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ขอความร่วมมือสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังของตนเองอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ โดยสำรวจทุกต้น กรณีมันสำปะหลังอายุมาก ต้นสูง ให้เดินสำรวจแบบตัวยู คือเดิน 1 แถวปลูก เว้น 3 แถวปลูก

ส่วนกรณีมันสำปะหลังอายุน้อย ต้นไม่สูงมากให้เดิน 1 แถวปลูกเว้น 5 แถว พร้อมสังเกตอาการบริเวณยอดมันสำปะหลังและจำนวนแมลงหวี่ขาวยาสูบ หากพบอาการผิดปกติ เช่น ใบหงิกเสียรูปทรง ใบอ่อนมีขนาดเล็กลง ยอดหงิก ต้นแคระแกร็น ให้เร่งทำลายต้นเป็นโรคด้วยวิธีการที่แนะนำ 3 วิธี ได้แก่ วิธีฝังกลบ วิธีบดสับ หรือวิธีใส่ถุงดำมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย และควรแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ทราบทันที​