กยท.ชี้”ราคายาง”ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ห่วงปัจจัยภายนอก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการวิเคราะห์ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางเทคนิค ราคายางได้รับปัจจัยกดดันจากสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อและความรุนแรง ของมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบจากรัสเซีย ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันลดลง แต่ความต้องการใช้ยังคงมีเพิ่มมากขึ้น จากความกังวลปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงจากต้นทุน พลังงานและโภคภัณฑ์ ที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งภาวะขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทั่วโลกยังไม่สิ้นสุดลงในขณะนี้ โดยสงครามในยูเครน ยังคงส่งผลกระทบต่อซัพพลายชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากมาตรการ Zero covid ล่าสุดพบการติดเชื้อแบบกลุ่มที่เซินเจินและมาเก๊า

279425416 3413770572215338 2244201329087332597 n
ราคายางยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ทั้งหมดส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาครัฐลดการอุดหนุนและการส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศ ทำให้เกิดการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเศรษฐกิจหลักที่เร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามราคายางปัจจัยสนับสนุนเดือนสิงหาคม 2565 ไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นอีก จึงคาดว่าราคายาง ยังคงเคลื่อนตัวออกด้านข้างหรือ Sideway down โดยมีโอกาสเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลง มีโอกาสปรับตัวลดลงเพื่อทดสอบแนวรับ หากไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่ จะทำให้ราคาปรับตัวขึ้นต่อไปที่จุดสูงสุดเก่าได้ ราคาในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบแนวโน้มขาขึ้น

อีกทั้งสถานการณ์ยางพาราโลกขณะนี้ World bank & OECD GDP Projections in 2002 ประกาศ ค่า PMI ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ 52.20 ประเทศจีน 49.00 ประเทศญี่ปุ่น 52.10 และ สหภาพยุโรป(อียู) อยู่ที่ 49.80 เนื่องจากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการ Zero Covid ของจีน และความขัดแย้งระหว่าง ไต้หวัน จีน และสหรัฐ

ในขณะที่ปริมาณการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติของโลก ANRPC วิเคราะห์ว่าในปี 2565 ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 14.420 ล้านตัน และปริมาณการใช้ยางอยู่ที่ 15.204 ล้านตัน และคาดว่าการดำเนินนโยบายลดภาษีรถใหม่ของจีน ทำให้ยอดขายรถเพิ่มขึ้น 24% และความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนของอุตสาหกรรมยานยนต์ทำให้การผลิตรถ EV เพิ่มขึ้น โดย ANRPC คาดว่าความต้องการยางจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4 %

ขณะที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งเมื่อคิดผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นเพราะปีนี้ยังอยู่ในภาวะลานินญ่าและในช่วงของเดือนสิงหาคม – กันยายน เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคเหนือ อีสานและตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญและคาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน โดยการส่งออกในช่วงของปลายปี ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ราคายางยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่ง กยท. ก็มีมาตรการต่าง ๆ ที่จะเข้ามาดูแล ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยมีโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการชะลอยาง โครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้ง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง

ก่อนหน้านี้ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายใต้แนวทาง “เกษตรผลิตพาณิย์ตลาด” ของรัฐบาล ทำให้ยอดการส่งออกยางพาราครึ่งปีแรกปี 2565 ของไทย ครองตำแหน่งผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานว่า ช่วง ม.ค.-มิ.ย. ปีนี้ มีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยาง 2.19 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 แสนล้านบาท จีนนำเข้ายางไทยเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 49% ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 7% ญี่ปุ่น 6% เกาหลีใต้ 4%

สำหรับแผนการขยายตลาดสู่ตลาดใหม่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี พลเอก ประเด็น จันทร์โอชา ว่า ได้สั่งการให้คณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ทำการระดมสมองจากทูตเกษตรทุกภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลและออกมาตรการเชิงรุก ซึ่งได้ข้อสรุป6 มาตรการ ดังนี้

1.มาตรการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก เช่น การผลิตสื่อดิจิทัลเผยแพร่ในตลาดต่างประเทศ

2.มาตรการการตลาดเชิงรุก เน้นความต้องการผลิตภัณฑ์ยางรายตัวสินค้าและรายประเทศคู่ค้า (product based &country based) เช่น ความต้องการยางจักรยานและยางรถบัสเพิ่มขึ้นในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและผลิตภัณฑ์ยางที่อียูแบนสินค้าจากรัสเซีย หรือผลิตภัณฑ์ยางที่รัสเซียระงับการนำเข้าจากอียู

3.มาตรการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน สวนยางยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อตอบโจทย์ ประเด็นสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเรื่องที่หลายประเทศในยุโรปให้ความสำคัญ

4.มาตรการระยะสั้นรายไตรมาส เพื่อการบริหารจัดการตามปฏิทินฤดูการผลิตประจำปี โดยมอบ กยท. ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน

5.มาตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ยางมูลค่าสูง เน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น วัสดุภัณฑ์ก่อสร้างบ้านและอาคาร ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง สถาบันยางและผู้ประกอบการ ผ่านการทำงานร่วมระหว่าง กยท. และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์AIC) นำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้จริง

6.มาตรการเชิงกลไกการตลาด เช่น การบริหารซัพพลายและดีมานด์ กลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบจริง และระบบการประมูลยางออนไลน์เป็นระบบที่เปิดกว้างเพิ่มผู้ซื้อทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาการกำหนดราคาโดยผู้ซื้อน้อยราย หรือการฮั้วหรือการผูกขาด

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ในแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคายาง และพอใจผลงานกระทรวงเกษตรฯ ที่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยครองแชมป์ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะมาสู่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องการใช้นวัตกรรมพัฒนาสินค้ายางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า และเจาะตลาดประเทศใหม่ๆ

สำหรับการดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา กระทรวงเกษตรฯ และกยท. มีโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีสถาบันฯเข้าร่วมโครงการ 207 แห่ง และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยกยท. ดำเนินการค้ำราคา เข้าแทรกแซงสร้างราคาในตลาดประมูลยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน เข้าประมูลในตลาดล่วงหน้ายางแผ่นรมควัน (เข้าค้ำราคาล่วงหน้า) เป็นต้น สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นการสร้างความแน่นอนในเรื่องรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรจำนวน 1.46 ล้านราย ทั้งนี้ จากการดำเนินการมา 3 ปี ใช้งบประมาณจ่ายเงินส่วนต่างลดลงแสดงให้เห็นถึงระดับราคายางพาราที่ดีขึ้น มีหลายงวดที่ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน ทำให้ไม่ต้องมีการจ่ายเงินส่วนต่าง ประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มาก