กยท.ไฟเขียวขยายเวลาคุ้มครองอุบัติเหตุชาวสวนยางเพิ่ม 30 วัน

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ขยายระยะเวลาคุ้มครองภัยอุบัติเหตุชาวสวนยางเพิ่มอีก 30 วัน ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.42 ล้านรายทั่วประเทศ ย้ำยังคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งดำเนินการจัดหาบริษัทประกันภัยของปีถัดไป ให้แล้วเสร็จโดยด่วน

นายณกรณ์ ตรรกวิระพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการประกันอุบัติเหตุกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง จัดขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวนกว่า 1.42 ล้านราย ให้ความคุ้มครองแบ่งออกเป็น กรณีสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถาวรอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรมและถูกทำร้ายร่างกาย (โดยผู้เสียหายมิได้มีเจตนาให้เกิดขึ้นเพื่อหวังรับเงินเอาประกันภัย) สูงสุดรายละ 500,000 บาท รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่/โดยสารรถจักรยานยนต์ สูงสุดรายละ 250,000 บาท นอกจากนี้ กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ รายละ 30,000 บาท และ กยท. จะมอบเงินเงินช่วยเหลือให้แก่ทายาท อีกรายละ 3,000 บาท เพื่อเป็นสวัสดิการของเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติมด้วย

650800005551

โดย กยท. ได้ขยายความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 กว่า 1.42 ล้านราย ต่อเนื่องอีก 30 วัน จากสิทธิ์เดิมที่หมดลงไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการ กยท. มีมติให้ประมูลใหม่ เนื่องจากวงเงินเกินกรอบงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ และเพื่อใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องชาวสวนยางมากที่สุด อย่างไรก็ตามเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียน หลังจากวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 จะได้รับความคุ้มครองทันที หลังจาก

กยท. จัดหาบริษัทจัดทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มรอบใหม่แล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อหาผู้รับจ้างทำประกัน โดย กยท. จะเร่งดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด

ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางลง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ซึ่งเมื่อคิดผลผลิตยางเป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนจากการปลูกยางไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน และปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น เพราะปีนี้ยังอยู่ในภาวะลานินญ่า และในช่วงของเดือนสิงหาคม – กันยายน เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องระวังเรื่องน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคเหนือ อีสานและตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ และคาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 4.275 ล้านตัน โดยการส่งออกในช่วงของปลายปี ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน

สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังใช้ยางเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ ในช่วงไตรมาสที่ 1 สหรัฐมีมูลค่าการนำเข้ายางยานพาหนะเพิ่มขึ้น 31% และในส่วนของแนวโน้มยางพาราจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว การเดินทาง และการขนส่ง ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเส้นด้าย ยางยืด หรือล้อรถยนต์ คาดว่ามีโอกาสที่ขยายตัวมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ราคายางก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่ง กยท. ก็มีมาตรการ ต่างๆ ที่จะเข้ามาดูแล ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยมี โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางโครงการชะลอยาง โครงการสินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้ง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง