ครม. เห็นชอบ MOU โครงการเมืองยางฯและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง สามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย

วันที่ 13 กันยายน 65 คณะรัฐมนตรี พิจารณา เรื่องขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT – GT)

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจ(MOU) โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT-GT)

1268063
ครม. เห็นชอบ MOU โครงการเมืองยางฯและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง

ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

รวมทั้งอนุมัติให้นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางฯ เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจ(MOU) โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามฝ่าย อินโดฯ – มาเลเซีย -ไทย (IMT-GT) และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามเอกสารดังกล่าวข้างต้นตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ

สาระสำคัญ

ร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางแผนงาน IMT – GT มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นความร่วมมือร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย Northern Corridor Implementation Authority (NCIA) ประเทศมาเลเซีย และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2. ความร่วมมือดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจความเข้มแข็งของห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมยางพารา โดยจะร่วมมือกันกำหนดนโยบายและทิศทางดำเนินกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาง การเสริมสร้างศักยภาพของเมืองยางพารา(Rubber Cities)ของทั้งสามประเทศสมาชิก ความร่วมมือด้านงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ยาง นวัตกรรมและเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์ยาง การแสวงหาและเสนอความร่วมมือผ่านเครือข่ายเมืองยางพาราระหว่างอนุภูมิภาค IMT-GT และ ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) ตลอดจนความร่วมมือด้านธุรกิจ

ผู้สื่อข่าวรายว่า ทั้งหมดนี้เป็นการหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านยางพาราระหว่าง 3 ประเทศ โดย กยท. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบคณะการค้าและการลงทุนฝ่ายไทย มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมเมืองยางพารา หรือ Rubber city ของทั้ง 3 ประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย งานวิจัย นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ยางพาราใหม่ ๆ

รวมไปถึงการสนับสนุนการค้าสินค้ายางพาราบริเวณชายแดนของทั้ง 3 ประเทศ ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและความต้องการใช้ยางพาราให้เพิ่มสูงขึ้น มุ่งหวังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านยางพาราของ 3 ประเทศ เพื่อให้การค้าของ 3 ประเทศ ราบรื่นมากยิ่งขึ้น