อบจ.อุดรธานี จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจังหวัด ส่งเสริมปลูกไผ่กิมซุง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้

นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)อุดรธานี เปิดเผย ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั้ง 186 แห่ง ใน 20 อำเภอของจังหวัด จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี ด้วยการ ”ปลูกไผ่ มีไม้ได้อาหาร “ โดยส่งเสริมการปลูกไผ่กิมซุงหรือไผ่หวานหรือไผ่ตง ซึ่งเป็นต้นไผ่พันธุ์โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง

ประกอบกับปัจจุบันในหลาย ๆ ภาคส่วน มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตรวิถีใหม่ และให้ความสำคัญแก่ภาคการเกษตรพื้นฐานมากขึ้น และการทำการเกษตรนั้นเป็นอาชีพพื้นฐานของคนไทยอยู่ จึงง่ายต่อการอบรมให้ความรู้ในด้านการทำเกษตร และเพื่อให้เกษตรกรไทยได้มีการดำรงวิถีชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเอง หาเลี้ยงชีพได้ ใช้ชีวิตได้อย่างพอเพียง ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

306615301 457405843095065 8669774908790271722 n
อบจ.อุดรธานี ส่งเสริมปลูกไผ่

สำหรับต้นไผ่กิมซุง สามารถปลูกในพื้นที่ว่างหัวไร่ปลายนา เป็นไม้ที่สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทั้งในเขตร้อนและเขตหนาว แม้แต่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร โดย อบจ.อุดรธานี เป็นผู้สนับสนุนต้นกล้าพันธ์ต้นไผ่กิมซุง ที่ได้มีการเตรียมเอาไว้แล้วบางส่วน

นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดสู่การแปรรูปอาหาร ทำเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร หรือส่งขายหน่อสดแก่พ่อค้าแม่ค้าขายให้ประชาชน เพื่อนำเอาไปประกอบเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ ในครัวเรือน เนื่องจากหน่อไผ่กิมซุง เป็นไผ่หวาน เป็นพืชเศรษฐกิจใช้หน่อเป็นอาหาร หรืออุตสาหกรรมอาหาร ลำต้นเอาใช้ประโยชน์ทำเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานได้สารพัดประโยชน์

โครงการนี้จึงเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม เพื่อเป็นการสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี ให้สามารถฟื้นตัวกลับมามีวิถีการดำเนินชีวิตที่ดี ด้วยความพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี ประจำปีงบประมาณ 2565 “ปลูกไผ่ มีไม้ ได้อาหาร” เป็นโครงการที่นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี ศึกษาแนวทางและหารือกับคณะทำงานหลายฝ่าย ตลอดจนผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวอุดรธานี ที่ได้รับความเดือดร้อนในสถานการณ์โควิด 19 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของโลกที่กำลังถดถอย จึงต้องอาศัยภาคการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพพื้นฐานของคนในสังคมไทย ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม อย่างพอเพียงและยั่งยืน

ทั้งนี้ ไผ่ตงลืมแล้ง หรือไผ่หวานลืมแล้ง (กิมซุง) เป็นไผ่หวานเศรษฐกิจ เป็นไผ่หวานพันธุ์หนึ่งที่ปลูกง่าย เติบโตเร็ว ให้หน่อ เพื่อเป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี ให้ไม้ทำผลิตภัณฑ์จักสาน เก้าอี้ เตียง ฯลฯ ไม่ทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้ปลอดภัยสำหรับทุกคน มีหลายโรงเรียนในประเทศไทยนำมาปลูกเพื่อเป็นร่มเงาให้กับนักเรียนในช่วงพักเที่ยง รวมทั้งเหมาะแก่การพักผ่อนอ่านหนังสือใต้ร่มเงาไผ่ แถมเป็นกำแพงกำบังลมพายุได้เป็นอย่างดี ไผ่ถือเป็นพืชมหัศจรรย์ผูกพันกับความคิดและวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยมาช้านาน เป็นต้นแบบของปรัชญา และวัตถุดิบแห่งการสร้างสรรค์