ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุนไพรโคกเคียน พึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

ในบ้านเรามีสมุนไพรจำนวนไม่น้อยที่สามารถนำมาบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เก็บสะสมองค์ความรู้นี้ไว้แบบสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อย่างเช่นในชุมชน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส

นางฟาตีม๊ะ อาลี วัย 60 กว่าปี ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต.โคกเคียน ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรทางเลือกมาใช้รักษาและป้องกันโรคจากบรรพบุรุษ และทำงานเป็น อสม. มานานตั้งแต่ปี 2520

307015118 5569586743080501 276512583480050219 n
สมุนไพร

เธอจึงก่อตั้งกลุ่มต้นแบบสมุนไพรพื้นบ้าน ต.โคกเคียน เมื่อปี 2559 โดยรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่มฯ มีสมาชิกที่เป็น อสม. จำนวน 20 คน ซึ่งในพื้นที่นี้ได้ใช้สมุนไพรมาใช้บรรเทาอาการของโรคภัยไข้เจ็บมาตลอด ตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการรักษาเหมือนที่ปู่ย่าตายายเคยใช้กันมา ซึ่งกลุ่มนี้ก็ได้รับรางวัล อสม. ดีเด่น สาขาภูมิปัญญาด้านสุขภาพในระดับจังหวัด เมื่อปี 2559 ด้วย

ขณะเดียวกันทางกลุ่มก็ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกสมุนไพรในบริเวณบ้านของตัวเอง และในส่วนพื้นที่ของกลุ่มที่เป็นที่สาธารณะประมาณครึ่งไร่ สมุนไพรที่ปลูกมีหลากหลาย อาทิ ขิง ข่า ฟ้าทะลายโจร ไพล มะแว้ง ฯลฯ เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ เมื่อปลูกแล้วทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จะเป็นผู้นำไปตรวจสอบในห้องทดลองว่ามีสารตกค้างอะไรหรือไม่ ปรากฎว่าไม่มี

นางฟาตีม๊ะ เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2564 โควิด-19 ระบาดหนัก ทางปิดทองฯ ได้เข้ามาประสานเพื่อนำสมุนไพรไปช่วยชาวบ้าน ซึ่งทางกลุ่มและปิดทองฯ ได้ทำเรื่องของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสุขภาพตำบล ได้งบประมาณมา 2 หมื่นกว่าบาท เพื่อขยายพื้นที่ปลูกสมุนไพรและนำไปแปรรูปเป็นยา โดยในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ทางกลุ่มได้ทำฟ้าทะลายโจรแคปซูล เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ และขับเสมหะ ซึ่งช่วยชุมชนได้เยอะมาก เนื่องจากช่วงนั้นยาแผนปัจจุบันขาดแคลน

นอกจากนี้ ยังนำสมุนไพรต่าง ๆ มาทำเป็นลูกประคบด้วย ส่วนผสมก็มีไพล ตะไคร้หอม ขมิ้น มะกรูด เกลือ ใบมะขาม และการบูร ซึ่งปลูกกันในพื้นที่อยู่แล้ว เมื่อทำเสร็จ นำขายในชุมชนในราคาย่อมเยา เพียงลูกละ 15 บาท เพราะอยากให้ชาวบ้านได้ใช้กันจริง ๆ

“ที่ผ่านมาทางสถาบันปิดทองฯ มาช่วยสนับสนุนการปลูกสมุนไพร เช่น นำรถไถมาช่วยปรับพื้นที่ นำปลอกแคปซูลมาให้ นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยในการนำสมุนไพรไปวิจัยในการป้องกันบรรเทาโรคภัยต่าง ๆ ด้วย”

นางฟาตีม๊ะกล่าวและว่า สมุนไพรที่กลุ่มใช้บรรเทาอาการโรคต่าง ๆ ของชาวบ้านนั้น ล้วนได้ผล อย่างเช่น ชาวบ้านมักมีปัญหาปวดเมื่อยตามร่างกายเมื่อมานวดและให้กินกัญชาเทศก็ดีขึ้น แต่ต้องกินติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน เป็นต้น

นับเป็นชุมชนต้นแบบอีกแห่งที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์และต่อยอด เพื่อให้คนในชุมชนบรรเทาจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นการพึ่งพาตนเองด้วยองค์ความรู้ของบรรพบุรุษ ที่สำคัญยังได้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วย