ขึ้นทะเบียน GI “กล้วยหอมทองละแม” ของดีจังหวัดชุมพร

“พาณิชย์”ประกาศขึ้นทะเบียน GI สินค้ารายการใหม่ “กล้วยหอมทองละแม” ของดีจังหวัดชุมพร เป็นรายการที่ 5 ของจังหวัด เผยสามารถช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 6 ล้านบาทต่อปี และยังเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้า “กล้วยหอมทองละแม” จากอำเภอละแม จังหวัดชุมพร เป็นสินค้า GI รายการที่ 5 ของจังหวัด โดยจังหวัดชุมพรมีสินค้า GI มากที่สุดของภาคใต้ ได้แก่ กล้วยเล็บมือนางชุมพร ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร กาแฟเขาทะลุชุมพร กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร และกล้วยหอมทองละแม ซึ่งเป็นสินค้า GI ตัวล่าสุด ทำให้ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้วทั้งหมด 164รายการ ครอบคลุมครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

63326704d3876
กล้วยหอมทองละแม

สำหรับลักษณะเฉพาะโดดเด่นของ “กล้วยหอมทองละแม” เมื่อสุกจะมีน้ำในผลน้อย รสชาติหวานหอม อมเปรี้ยวเล็กน้อย มีผลขนาดกลางถึงใหญ่ เนื้อแน่น หน้าตัดเหลี่ยม ขั้วเหนียว เป็นสินค้าเกษตรของไทยที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น โดยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอำเภอละแมกว่า 6 ล้านบาทต่อปี

“ด้วยความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดชุมพร รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ของจังหวัด ที่เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียน GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน จนนำมาสู่การขึ้นทะเบียน GI อย่างต่อเนื่องของจังหวัดชุมพร ได้ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ถือเป็นอีกจังหวัดต้นแบบที่นำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าให้กับท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม”นายสินิตย์กล่าว

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังคงเดินหน้าประกาศขึ้นทะเบียน GI อย่างต่อเนื่อง เพราะ GI เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดให้กับสินค้าชุมชนท้องถิ่น ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผลิตได้ในพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่น โดยเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นใด สนใจนำสินค้าชุมชนมาขึ้นทะเบียน GI สามารถขอรับคำปรึกษาเพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 1368

ก่อนหน้านี้ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันภาคการเกษตรและสินค้าท้องถิ่น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geograpgical IDentification: GI) ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนมาก บ่งบอกถึงความพิเศษตามธรรมชาติและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น การขึ้นทะเบียน GI จะเป็นการป้องกันการแอบอ้าง และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าได้อย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2565 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าการขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 18 รายการ สามรายการล่าสุดคือ ผ้าไหมคึมมะอุ จ.นครราชสีมา กล้วยหอมทองละแม จ.ชุมพร และมันแกวบรบือ จ.มหาสารคาม โดยขณะนี้ มีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้ว 182 รายการ เป็นของไทย 164 รายการ และต่างประเทศ 18 รายการ

“สินค้า GI เป็นสินค้าที่เชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น มีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ การยื่นขอขึ้นทะเบียนจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อปกป้องและคุ้มครองชื่อสินค้าให้ยังคงเป็นสิทธิของชุมชนเดิม ไม่ให้ใครแอบอ้างเอาชื่อสินค้าไปใช้ประชาสัมพันธ์ อีกทั้งยังช่วยทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและเพิ่มมูลค่าด้วย” นางสาวรัชดา กล่าว