ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เตรียมนำแนวทางการบริหารจัดการด้านเกษตรของญี่ปุ่นมาปรับใช้

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 24-28 กันยายน 2565 พร้อมด้วยนายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น (Japan Agricultural Cooperative Association: JA) หรือ NO-KYO ซึ่งเป็นองค์กรที่ทําหน้าที่สนับสนุนการทําการเกษตรของสมาชิก

อาทิ 1) การให้คำปรึกษาด้านทําการเกษตร 2) ด้านการตลาด โดยทําหน้าที่รวบรวมสินค้า คัดแยก แปรรูป บรรจุหีบห่อ กระจายสินค้า ตลอดจนการจัดจําหน่ายสินค้าเกษตร 3) การจัดซื้อปุ๋ย/สารเคมีทางการเกษตร เครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ร่วมกัน 4) ให้บริการทางการเงินสินเชื่อการทําประกันชีวิต และประกันภัย ฯลฯ และ 5)ดําเนินกิจกรรมอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาลการท่องเที่ยว และจัดทําหนังสือพิมพ์รายวันเป็นต้น

capture 20220928 112848
นำแนวทางการบริหารจัดการด้านเกษตรของญี่ปุ่นมาปรับใช้

จากนั้นได้เดินทางไปยัง Hokkaido Agrimart Co., Ltd. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สินค้าทางการเกษตร โดยการศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านเกษตรของญี่ปุ่นไปพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปยางพาราของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าของยางและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของตลาดในต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าส่งออกยางพาราให้มากขึ้น

โอกาสนี้ปลัดเกษตรฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตเกษตรประจำประเทศญี่ปุ่น ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์ยางพารา ประสานงานผู้นำเข้าเพื่อเชื่อมโยงตลาดและขยายปริมาณการส่งออกเพิ่มเติมด้วย

ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาภาคการเกษตรสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในเอเชีย มีเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย มีระบบบริหารจัดการการใช้น้ำในการผลิตพืชที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเกษตรประเทศไทยได้

ประเทศญี่ปุ่นมีการปลูกพืชในโรงเรือนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกพืชเมื่อเทียบกับประเทศไทย ปริมาณผลผลิตมีการแปรปรวนแตกต่างกันตามฤดูกาล ไม่มีความต่อเนื่องกัน

ตลอดทั้งปีการปลูกพืชในโรงเรือนนอกจากช่วยลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติแล้วยังทำให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นการปลูกพืชในโรงเรือนจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับการทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่น

สำหรับพืชที่นิยมปลูกในโรงเรือนส่วนใหญ ่เป็นพืชที่คนในประเทศญี่ปุ่นมีความนิยมในการบริโภคสูง ได้แก่ มะเขือเทศ ผักโขม สตรอว์เบอร์รีและแตงกวา โรงเรือนปลูกพืชในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นโรงเรือนแบบควบคุมสภาพแวดล้อมและโรงเรือนแบบง่ายที่เป็นโครงเหล็กโค้งคลุมด้วยพลาสติก