จีน…แล้งหนัก โอกาสส่งออกข้าวหอมมะลิไทย

ปี 65 จีนเผชิญคลื่นความร้อนและภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุด ซึ่งอาจลากยาวตลอดเดือน ก.ย.-พ.ย. แม้สถานการณ์ในบางพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่คาดว่าคลื่นความร้อนที่ปกคลุมทั่วประเทศอาจกระทบผลผลิตข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่กำลังจะเก็บเกี่ยว ส่งผลให้จีนอาจต้องเพิ่มการนำเข้า

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 65 จีนน่าจะนำเข้าข้าวจากไทยเป็นหลักเพื่อชดเชยผลผลิตข้าวในประเทศ ซึ่งเป็นจังหวะที่ข้าวนาปี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของไทยกำลังออกสู่ตลาด ในขณะที่แหล่งนำเข้าข้าวอื่นอย่างเวียดนาม ปากีสถานและอินเดีย น่าจะมีข้อจำกัดด้านผลผลิตและมาตรการจำกัดการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสถานการณ์น้ำท่วมในไทยและเศรษฐกิจจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกข้าวไทยไม่ได้อานิสงส์เต็มที่

1201137
ข้าวหอมมะลิไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กรณีสถานการณ์น้ำท่วมในไทยไม่รุนแรงหรือผลกระทบต่อผลผลิตข้าวไม่ขยายวงกว้าง ในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีนน่าจะอยู่ที่ราว 95,000-100,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 5.7-11.3% (YoY) ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยไปจีนทั้งปี 65 อาจอยู่ที่ราว 155,480-160,480 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 18.7-22.5%

โดยในระยะข้างหน้า ไทยอาจเผชิญความท้าทายจากนโยบายเร่งลงทุนด้านการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของจีน จึงควรเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเน้นผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างข้าวพื้นนุ่ม การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น รวมไปถึงการเน้นผลิตสินค้าคุณภาพอย่างสินค้าออร์แกนิกที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่กับการขยายตลาดไปสู่ตลาดศักยภาพใหม่ ๆ นอกจากจีน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เกาหลีใต้

ในขณะที่การพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยควรเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกระแสสิ่งแวดล้อมของประเทศนำเข้า อาทิ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ที่เริ่มใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) กับสินค้าเกษตรมากขึ้น

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาความเสี่ยงของสถานการณ์น้ำท่วมในไทยที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนและอาจมีพายุเข้ามาเพิ่มเติมได้ ซึ่งหากสถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้นและขยายพื้นที่ความเสียหายไปในแหล่งปลูกข้าวเป็นวงกว้างมากขึ้น (ข้าวหอมมะลิปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ก็อาจกดดันต่อผลผลิตข้าวและอาจทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในการส่งออกข้าวหอมมะลิไปจีนที่ลดลงได้

นอกจากข้าวแล้ว ภัยแล้งในจีนคาดว่าจะช่วยหนุนความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจีน ซึ่งจะทำให้ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์ในการส่งออกมันสำปะหลังไปจีนด้วย เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นสินค้าทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ แม้ว่าไทยจะไม่ได้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพราะยังผลิตได้ไม่พอก็ตาม

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 ไทยอาจมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีนอยู่ที่ราว 3.3-3.5 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2-8.4 (YoY)