ทุเรียนจีน“ไหหลำ” และทุเรียนชาติอาเซียน คู่แข่งใหม่ของทุเรียนไทยในตลาดจีน

ทุเรียน นับได้ว่าเป็นราชาผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน เมื่อปี 2564 จีนนำเข้าทุเรียนกว่า 821,500 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยในจำนวนดังกล่าว จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยมากถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดเข้ามายังจีนอีกต่อไป เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 กรมศุลกากรจีนประกาศอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม และมูลค่าการนำเข้าทุเรียนอันมหาศาลนี้ ทำให้เกษตรกรจีนเริ่มหันมาให้ความสนใจที่จะทดลองปลูกทุเรียนในประเทศจีน โดยจีนนับว่าประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนครั้งแรกที่มณฑลไห่หนานเมื่อปี 2562 และประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนครั้งที่ 2 เมื่อเดือน พ.ค. 65 ที่เมืองม้าวหมิง มณฑลกวางตุ้ง โดยเกษตรกรเมืองม้าวหมิง มณฑลกวางตุ้งประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงและพันธุ์หนามดำที่นำต้นกล้ามาจากมาเลเซีย ไทยในฐานะเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนที่สำคัญ ในภูมิภาคอาจต้องจับตามองความเคลื่อนไหวนี้

A2
ทุเรียนไหหลำ

ในช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าว Hainan TV ได้รายงานว่า ปัจจุบัน มณฑลไห่หนานหรือไหหลำมีพื้นที่ปลูกทุเรียนได้ทั้งหมดกว่า 12,500 ไร่ และคาดว่ามณฑลไห่หนานจะสามารถจำหน่ายทุเรียนออกสู่ตลาดจีนได้ภายในปี 2567 โดยมีทุเรียนป้อนสู่ตลาดปีละประมาณ 45,000 – 75,000 ตัน

ปัจจุบัน มณฑลไห่หนานมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเป็นจำนวนมากในหลายเมือง โดยสวนเงาะหัวเซิ่งเป่าถิง (Hainan Baoting Huasheng Rambutan Plantation) เป็นพื้นที่แรกของจีนที่ปลูกทุเรียนเป็นผลสำเร็จเมื่อปี 2562 และสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ปัจจุบัน มีต้นทุเรียนที่ออกผลจำนวน 40 ต้น และคาดว่าจะสามารถให้ผลผลิตสูงที่สุดถึง 1,500 – 2,500 กิโลกรัมต่อหมู่ ซึ่งเป็นหน่วยวัดของจีน เทียบได้เกือบครึ่งไร่ของไทย (ประมาณ 0.42 ไร่ หรือ 185 ตารางวา) หากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ (full-scale production)

นอกจากนี้ นายกาน ไห่เจียง (Gan Haijiang) หัวหน้าพื้นที่เกษตรกรรมเชิงนิเวศฮัวเซิงมณฑลไห่หนาน (Hainan Huasheng Ecological Agriculture Base) ซึ่งบริหารจัดการสวนเงาะสวนเงาะหัวเซิ่งเป่าถิง กล่าวว่า สวนดังกล่าวปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นทุกปีโดยภายในสวนมีทุเรียน 2 – 3 ต้นที่ออกผลเป็นจำนวนหลายสิบผลต่อต้นและมีผลทุเรียนที่น้ำหนักมากที่สุดผลละ 5 กิโลกรัม

ประวัติการปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนาน

มณฑลไห่หนานเริ่มต้นปลูกทุเรียนครั้งแรกเมื่อปี 2501 โดยสถาบันวิจัยพืชฤดูร้อนเป่าถิง (Baoting Tropical Crops Research Institute) ซึ่งบริหารจัดการโดย Hainan Nongken Investment Holding Group จำกัดได้นำต้นกล้ามาจากมาเลเซียมาทดลองปลูกแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อมา เมื่อช่วงทศวรรษที่ 70 – 80 เริ่มทดลองปลูกอีกครั้งและออกดอกติดผลเพียงเล็กน้อย กระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 บริษัท Hainan Huasheng Ecological Agriculture Development จำกัด ได้นำต้นกล้าจำนวน 44 ต้นมาปลูกในสวนเงาะที่อำเภอปกครองตนเองหลีและเหมียวเป่าถิง (Baoting Li and Miao Autonomous Country) ออกดอกและติดผลครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2559 และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ครั้งแรกเมื่อปี 2562 และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้กว่า 3 ปีติดต่อกัน ความสำเร็จดังกล่าวยังเป็นกระแสที่ทำให้แก่เกษตรรายอื่นในพื้นที่เริ่มหันมาให้ความสนใจในการปลูกทุเรียนมากขึ้นอีกด้วย

สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน

สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences) ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมทุเรียนของมณฑลไห่หนานมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว เมื่อปี ค.ศ. 2019 สถาบันฯ เริ่มขยายพื้นที่ทดลองปลูกทุเรียนที่อำเภอปกครองตนเองฯ เป่าถิง เมืองซานย่า อำเภอปกครองตนเองฯ เล่อตง และอำเภอปกครองตนเองฯ หลิงซุ่ยที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้มณฑลไห่หนาน

เริ่มต้นจากการปลูกพื้นที่เล็กและขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็น 2,000 เฮกตาร์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังแนะนำให้เกษตรกรเพาะปลูกทุเรียนในพื้นที่เขตภูเขาทางตอนใต้และเขตภูเขาทางตอนกลางของมณฑลไห่หนาน ก่อนที่จะขยายการเพาะปลูกไปยังพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะ

สถาบันฯ มีบทบาทสำคัญในการดูแลการเพาะปลูก รวมถึงการวิจัยและพัฒนาการควบคุมศัตรูพืช การให้น้ำและปุ๋ย ซึ่งจากการวิจัยและพัฒนาสามารถเพิ่มอัตราการรอดของต้นกล้าทุเรียนสูงถึงกว่าร้อยละ 95 นอกจากนี้ นาย Yi Kexian นักวิจัยสถาบันวิจัยด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพืช (Environment and Plant Protection Institute) สถาบัน Chinese Academy of Tropical Agricultural Sciences ยังระบุด้วยว่า “สถาบันฯ จะใช้ความรู้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์พัฒนาคุณภาพของต้นกล้า เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร รวมถึงสนับสนุนการนำเข้าต้นกล้าคุณภาพสูงจากต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อนำมาตอนกิ่งขยายพันธุ์กับต้นทุเรียนที่ออกดอกและผลนานกว่า 3 ปีในพื้นที่ด้วย”

ความท้าทายของเกษตรกรไทย

เมื่อ 31 สิงหาคม 2565 ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ประจำนครกว่างโจว ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ทุเรียนไทยในตลาดจีนครึ่งแรกของปี 2565 โดยระบุว่า จีนเป็นประเทศที่มีการนำเข้าทุเรียนเพื่อการบริโภคมากอันดับ 1 ของโลก โดยเมื่อปี 2564 มีการนำเข้าทุเรียนจากไทยมากถึง 807,227 ตัน หรือกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนทั้งหมด

และในช่­วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีการนำเข้า 500,546 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20 เมื่อเทียบกับช่­วงเวลาเดียวกันของปี 2564 โดยนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ให้ความเห็นว่า “ความสำเร็จในการปลูกทุเรียนของจีน ในระยะสั้นอาจจะยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยมากนัก แต่การอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามอาจส่งผลต่อราคาทุเรียนในตลาดจีนในอนาคต ดังนั้น เกษตรกรไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาและมุ่งเน้นการส่งออกทุเรียนที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูง ตลอดจนพัฒนาทุเรียนสายพันธ์ใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดพรีเมียมของจีนมากขึ้น

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา “ความนิยมทุเรียนไทย” ได้รับแรงกดดันและความท้าทายจากทุเรียนมูซานคิงของมาเลเซีย ซึ่งเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดทุเรียนของไทยในจีนโดยใช้ความ “พรีเมียม” เป็นจุดขาย หลังจากจีนได้เปิดให้นำเข้ามาเลเซียเป็นเนื้อทุเรียนแช่แข็ง เมื่อปี 2554 และทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกเมื่อปี 2562 และล่าสุด เมื่อปลายเดือน กรกฎาคม 2565 ทุเรียนเวียดนามก็ได้กลายเป็นผู้ท้าทายรายใหม่ที่น่าจับตามอง เมื่อกรมศุลกากรจีนประกาศอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่สองที่ได้รับอนุญาตต่อจากประเทศไทย

และจากนี้ไปได้มีรายงานข่าวระบุว่า จีนจะอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ในอนาคตอันใกล้ ไทยในฐานะเป็นเจ้าผู้ครองตลาดทุเรียนในจีนตลอดช่วงที่ผ่านมา อาจต้องเตรียมรับมือด้วยทุเรียนพรีเมี่ยมพันธุ์ใหม่ ๆ หรือทุเรียนแปรรูปรูปแบบใหม่ เพื่อให้ “ความนิยมทุเรียนไทย” ยังคงครองใจผู้บริโภคชาวจีนต่อไป

ความสำเร็จในการปลูกทุเรียนของจีนในครั้งนี้ กอรปกับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน ไทยในฐานะเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนที่สำคัญในภูมิภาคอาจต้องจับตามองความเคลื่อนไหวในทั้งสองด้าน สำหรับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ร่วมกับทีมประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าผลไม้ไทย รวมถึงทุเรียนอยู่เป็นระยะ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

ที่มาข้อมูล -ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว