นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า แหนแดงเป็นปุ๋ยชีวภาพชนิดหนึ่งที่มีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้อาศัยอยู่ภายในโพรงใบ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจน และเป็นแหล่งไนโตรเจนที่เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ง่าย ให้ธาตุอาหารพืชสูง ใช้ต้นทุนน้อย และสามารถผลิตได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีวันหมด
นอกจากนี้ แหนแดงยังประกอบด้วยสารเพิ่มประสิทธิภาพพืช เช่น กรดอะมิโนต่างๆ และสารคล้ายฮอร์โมนพืช แต่การนำแหนแดงสดไปใช้ในการผลิตพืชผักยังมีข้อจำกัด เนื่องจากมีน้ำเป็นองค์ประกอบสูง หากจะนำมาใช้ในการผลิตพืชผักจำเป็นต้องใส่แหนแดงสดปริมาณมากเพื่อให้ได้ธาตุอาหารที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชผัก ดังนั้นกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนาการใช้แหนแดงแห้งในการจัดการธาตุอาหารพืช เพื่อให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพืชผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร. ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กล่าวว่า ได้ดำเนินการศึกษาการปลดปล่อยธาตุอาหารของแหนแดงแห้ง และศึกษาผลของการใช้แหนแดงแห้งต่อการเจริญเติบโตของผักสลัดคอสในสภาพเรือนทดลองและในพื้นที่แปลงทดลอง จากการศึกษาการปลดปล่อยธาตุอาหารในแหนแดงแห้ง พบว่า การใส่แหนแดงแห้ง 35 กรัมต่อดิน 1 กิโลกรัม ผักสลัดคอสมีการเจริญเติบโตสูงสุด โดยมีน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งเพิ่มขึ้น 736 เปอร์เซ็นต์และ 286 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ไม่ใส่แหนแดงแห้ง
จากการทดลองในพื้นที่ปลูกผักสลัดคอสจังหวัดนครราชสีมา เมื่อใช้แหนแดงแห้งอย่างเดียวอัตรา 1 กิโลกรัม / ตารางเมตร ให้ผลผลิตผักสลัดคอสสูงกว่าการใช้ปุ๋ยยูเรียอัตรา 20 กรัมต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยให้ผลผลิตเท่ากับ 2,603 กิโลกรัมต่อไร่ หรือให้ผลผลิตมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราแนะนำ 69 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นแหนแดงแห้งจึงสามารถใช้เป็นแหล่งของธาตุอาหารทดแทนปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหมาะแก่การนำไปใช้ผลิตพืชผักอินทรีย์ เนื่องจากแหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัม สามารถปลดปล่อยไนโตรเจนให้พืชได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 16 กรัม รวมทั้งยังมีธาตุอาหารรองแคลเซียมและแมกนีเซียมที่เป็นประโยชน์กับพืชและช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุแก่ดิน ในขณะที่ปุ๋ยยูเรีย 20 กรัม มีไนโตรเจน 9.4 กรัมเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ เมื่อใช้แหนแดงแห้งร่วมกับปุ๋ยยูเรียอัตรา 5, 10, 15 และ 20 กรัมต่อตารางเมตร พบว่าทุกกรรมวิธีทำให้ผลผลิตผักสลัดคอสเพิ่มสูงขึ้นแตกต่างจากการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวทุกอัตรา
“แหนแดงมีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นปัจจัยการผลิตที่ช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชผักรับประทานใบ โดยเกษตรกรสามารถผลิตแหนแดงได้จากการใช้เทคโนโลยีการผลิตแหนแดงของกรมวิชาการเกษตร และสามารถนำความรู้จากงานวิจัยนี้ไปปฏิบัติได้ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชผักรับประทานใบและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากนี้แหนแดงแห้งยังสามารถใช้เป็นแหล่งธาตุอาหารทดแทนปุ๋ยเคมีให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตผักอินทรีย์หรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพื่อการผลิตผักตาม GAP ได้ด้วย” ดร. ศิริลักษณ์ กล่าว