จ่อนำประกันรายได้ปาล์มปี4 เข้าครม.หลังผ่าน กนป.วันนี้

วันที่ 19 ตุลาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประเด็นน้ำมันปาล์ม ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณา การ( ก.น.บ.) ครั้งที่ 1/2565 ที่ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ปรับจาก B5 เป็น B7 มีผลช่วยยกระดับราคาปาล์มระดับหนึ่ง ทำให้ขณะนี้ราคาปาล์มผลปาล์มสดอยู่ที่กิโลกรัมละ ประมาณ 5.50-6.50 บาท โดยเฉลี่ยทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมาระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ที่มีผลให้ราคาปาล์มปรับลดลงในตลาดโลกเพราะ ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่หรือประเทศผู้ผลิตรายใหญ่คือ อินโดนีเซียกับมาเลเซีย เร่งการส่งออกในปริมาณที่เยอะมากและอินโดนีเซียงดเก็บภาษีส่งออก ทำให้ปริมาณปาล์มในตลาดโลกเยอะ ทำให้ราคาปรับลดลง กระทบราคาในประเทศด้วย

palm 1464660 340
เตรียมนำประกันรายได้ปาล์มปี4 เข้าครม.

“เมื่อปรับจาก B5 เป็น B7 ก็ดีขึ้น แต่ตนคิดว่าเราอยากเห็นราคาดีกว่านี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กนป.(คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ)ในการให้มาตรการการช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท ที่เราเคยทำอยู่ปรับเงื่อนไขให้ช่วยได้ง่ายขึ้น เพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น สำหรับผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม จะได้รับการสนับสนุนกิโลกรัมละ 2 บาท ถ้าส่งออกได้มากขึ้นแข่งขันได้ดีขึ้น จะมีส่วนช่วยยกระดับราคาปาล์มให้ดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง และถ้าเกิดมีปัญหาจริงนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มยังใช้อยู่และวันนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กนป. เพื่อให้ผ่านมติที่ประชุม ถ้าผ่านจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มปี 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสภาชุดนี้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำมันปาล์ม เป็นน้ำมันจากพืชที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดเมื่อเทียบกับน้ำมันจากพืชชนิดอื่น ๆ อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรปซีด (Rapeseed) น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันมะกอก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่ของผลปาล์มสดจะสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น 6-10 เท่า

แม้ว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนน้อยเพียง 3.9% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลกจึงไม่มีอำนาจหรือบทบาทที่จะกำหนดทิศทางราคาเหมือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ คิดเป็นสัดส่วน 86.4% ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศโดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร (สัดส่วนรวมกันเกือบ 60%) ที่เหลือ 13.6% กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น

ขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลจาก 1) ผลผลิตปาล์มสดต่อไร่ของไทยเฉลี่ยที่ 2.7 ตัน (อินโดนีเซีย 2.9 ตัน และมาเลเซีย 3.3 ตัน) 2) อัตราการสกัดน้ำมัน (Oil Extraction Rate : OER) ของไทยเฉลี่ยที่ 17-18% (มาเลเซียและอินโดนีเซียที่ 20% และ 22% ตามลำดับ) เนื่องจากเกษตรกรไทยมักเก็บเกี่ยวผลปาล์มก่อนสุก อัตราการให้น้ำมันจึงต่ำ และ 3) โครงสร้างเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 20-25 ไร่ต่อราย ต่างจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่มากกว่า 80% และมีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยมากกว่า 200 ไร่ต่อราย

นอกจากนี้ การจัดการผลผลิตของเกษตรกรไทยยังขาดประสิทธิภาพ เช่น กระบวนการคัดเลือกพันธุ์ปาล์ม การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาผลปาล์มสด อีกทั้งการขายผลปาล์มสดมักต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือลานเทปาล์มน้ำมันที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตต่อรายน้อยจึงไม่คุ้มที่จะขนส่งไปขายตรงกับโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ