มัดรวมเทคโนโลยีผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพส่งต่อเกษตรกรเมืองร้อยเกาะ ต้นทุนลด ผลผลิตเพิ่มจากเดิมกว่า 2 เท่า

กรมวิชาการเกษตร รวมชุดเทคโนโลยีผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพ นำร่องถ่ายทอดชาวสวนปาล์มสุราษฎร์ธานี 95 ราย 11 อำเภอ รวมพื้นที่กว่า 1,600 ไร่ พลิกรูปแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีจากรับรู้เป็นเรียนรู้ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการต้นทุนใช้ปุ๋ยลด 40 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเพิ่มจากเดิมกว่า 2 เท่า ตั้งเป้าปีหน้าดาวกระจายเทคโนโลยีสู่เกษตรกรอีก 200 ราย ครอบคลุมสวนปาล์มฯ 2,000 ไร่ สำนักงานก.พ.ร. ทึ่งผลงานเข้าถึงเกษตรกรมอบรางวัลเลิศรัฐ

312278120 450576380554915 3534374602867798247 n
มัดรวมเทคโนโลยีผลิตปาล์มน้ำมันคุณภาพส่งต่อเกษตรกร

เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่มีปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ราคาจำหน่าย ราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งกระทบต่อการผลิตปาล์มน้ำมัน ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน จึงได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมปาล์มน้ำมันโดยประมวลเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้จากการศึกษาวิจัยหลายด้านอย่างต่อเนื่องจัดเป็นแพคเกจหรือเป็นชุดเทคโนโลยีการจัดการการผลิตที่สนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ

ประกอบด้วย การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกอร์ การจัดการธาตุอาหารตามผลวิเคราะห์ดิน-ใบ การเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันคุณภาพ การประเมินปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตโดยคํานวณปริมาณน้ำ จากผลรวมของทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่ของการผลิตปาล์มน้ำมัน การเพิ่มศักยภาพการใช้ที่ดินและประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย และการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของปาล์มน้ำมัน

โครงการดังกล่าวได้คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 95 ราย 11 อำเภอ รวมพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,680 ไร่ ซึ่งผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการพบว่าเกษตรกรได้ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ และลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ จากความโดดเด่นของผลงานดังกล่าวที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรเห็นผลอย่างชัดเจนทำให้ได้รับรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2564 จากสำนักงานก.พ.ร. ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการและมุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จและมีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงาน

ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี การดำเนินการในโครงการครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยเปลี่ยนจากให้เกษตรกร “รับรู้” เป็น “เรียนรู้” โดยจัดฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติให้แก่เกษตรกร และโครงการได้จัดซื้อวัสดุให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์แก่เกษตรกรไม่เกิน 10 ไร่ต่อราย พร้อมอบรมวิธีการติดตั้งระบบให้น้ำโดยเน้นให้เกษตรกรเรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งการจัดการธาตุอาหารได้ตรงตามความต้องการของปาล์มน้ำมันส่งผลให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นได้เต็มศักยภาพของพันธุ์ปาล์มน้ำมัน เกษตรกรได้รับรายได้จากน้ำหนักผลผลิตทะลายที่เพิ่มขึ้น และไม่มีการคัดทะลายคืนกลับจากแหล่งรับซื้อ เนื่องจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันคุณภาพ

ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานีจะให้ความรู้ทั้งหมดแก่เกษตรกรและมีนักวิชาการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อนำไปวิเคราะห์คำนวณต้นทุนว่าต้นปาล์มแต่ละต้นใช้ต้นทุนเท่าไหร่ โดยมีตัวอย่างสวนปาล์มน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการปี 2562 คือ นายสัมพันธ์ ฉิมพักดี ข้าราชการครูบำนาญได้ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์มฯ ซึ่งจากการเข้าร่วมโครงการทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามลำดับจากปี 2562 ได้ผลผลิต 1.20 ตัน/ไร่ ปี 2563 ได้ผลผลิต 2.34 ตัน/ไร่ และปี 2564 ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3.19 ตัน/ไร่ โดยภาพรวมได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 2 เท่า

ประเด็นสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จคือการสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงกลไกธรรมชาติของปาล์มน้ำมันที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับผลผลิตทำให้เกษตรกรเข้าใจว่าการให้น้ำและปุ๋ยมีความสัมพันธ์กันและมีผลต่อการให้ผลผลิตอย่างมาก โดยทะลายปาล์มที่ออกมาจากเกษตรกรภายในโครงการจะเป็นทะลายปาล์มที่มีอัตราการสกัดน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีต่อไปมีแผนที่จะขยายผลโครงการการใช้นวัตกรรมปาล์มน้ำมันไปยังสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรอีก 5 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เป้าหมายเกษตรกรรวมจำนวน 200 ราย ครอบคลุมพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันจำนวน 2,000 ไร่ ซึ่งในขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการเกือบครบตามเป้าหมายแล้ว