อากาศเย็น ฝนตกบางพื้นที่ ระวังโรคแอนแทรคโนสในสตรอว์เบอร์รี

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นลง และมีฝนตกบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตรเตือนผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคแอนแทรคโนส (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides)

อาการบนก้านใบและลำต้น พบแผลสีม่วงแดงขนาดเล็ก ขยายลุกลามไปตามความยาวของก้านใบและลำต้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบริเวณแผลแห้ง ทำให้เกิดรอยคอด หากอาการรุนแรง ต้นจะเหี่ยว และตายในที่สุด

อาการบนไหล พบแผลสีม่วงแดงขนาดเล็ก ขยายลุกลามไปตามความยาวของสายไหล และเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาลในเวลาต่อมา ทำให้เกิดรอยคอดของไหลบริเวณที่เป็นแผล

312310063 449606907318529 3522233633657852916 n
โรคแอนแทรคโนสในสตรอว์เบอร์รี

อาการบนผล แผลมีลักษณะฉ่ำน้ำเป็นสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อรอบขอบแผลเปลี่ยนเป็นสีซีด แผลยุบตัวลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นจะขยายใหญ่และทำให้ผลเน่า ในสภาพที่มีอากาศชื้นอาจพบกลุ่มสปอร์สีส้มของเชื้อราสาเหตุโรคที่บริเวณแผล

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1.ใช้ส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรค และส่วนขยายพันธุ์ที่ไม่มีอาการของโรค

2.ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค

ตัดส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูกแล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟลูโอไพแรม+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25% + 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูโอไพแรม + ทีบูโคนาโซล 20% + 20% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 วัน

3.แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก

สำหรับ สตรอว์เบอร์รี หรือ strawberry เป็นสกุลไม้ดอกในวงศ์กุหลาบ ผลสามารถรับประทานได้ ในอดีตปลูกเป็นพืชคลุมดินให้กับต้นไม้ปลูกเลี้ยงอื่น มีมากกว่า 20 สปีชีส์ และมีลูกผสมมากมาย

แต่สตรอว์เบอร์รีที่นิยมปลูกมากในปัจจุบันก็คือสตรอว์เบอร์รีสวน (Fragaria × ananassa) ผลของสตรอว์เบอร์รีมีรสชาติหลากหลายขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีตั้งแต่รสหวานจนถึงเปรี้ยว

สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ทางการค้าที่สำคัญ มีปลูกกันเป็นวงกว้างหลายสภาพอากาศ

รูปลักษณะ

เป็นพืชล้มลุก แตกกิ่งก้านแผ่ปกคลุมดิน ใบจะรวมกันอยู่ 3 ใบใน 1 ก้าน ขอบใบมีรอยหยัก มีดอกสีขาว ผลมีก้านยาวเชื่อมกับต้น มีเสี้ยนเล็ก ๆ บาง ๆ กระจายอยู่ทั่วผล มีกลีบเลี้ยงบนขั้วของผล เมื่ออ่อนมีสีขาว เหลือง เมื่อสุกจะเป็นสีส้ม หรือแดง รสชาติอมเปรี้ยวถึงหวาน ขึ้นอยู่กับผลที่สุก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

พื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 800 เมตร

พื้นที่ที่มีอุณหภูมิ 10-25 องศาเซลเซียส (มีอากาศเย็นตลอดปี)

พื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์ เช่น ดินแบบทุ่งหญ้าแพรรี หรือดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์

ฤดูกาล

เริ่มปลูกในช่วงเดือนปลายสิงหาคมถึงปลายตุลาคม

เริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงเดือนเมษายนของปีถัดไป

สำหรับแหล่งปลูกที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ,ปราจีนบุรี ไม้เค็ด บ้านม่อน , เชียงใหม่ ฝาง แม่ริม สะเมิง จอมทอง (บนดอยอินทนนท์) และพื้นที่รอบ ๆ ตัวเมือง

เชียงราย พื้นที่หลักในการผลิตสตรอว์เบอร์รีอยู่ที่อำเภอแม่สายและอาจมีกระจายบ้างอยู่ทั่วไป ๆ บริเวณใกล้เคียง

สตรอว์เบอร์รียังถูกปลูกกันโดยทั่วไปบนที่สูงในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ทางตะวันตก เช่น เทือกเขาในอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น