กรมวิชาการเกษตรใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอะโวคาโดจังหวัดตาก

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อะโวคาโด เป็นผลไม้ที่เริ่มปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่างในปีพ.ศ. 2505 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก และสถานีทดลองพืชสวนพบพระ กรมวิชาการเกษตร  ต่อมามีการกระจายพันธุ์ ส่งเสริม สนับสนุนการปลูกอะโวคาโดเป็นพืชเศรษฐกิจเด่นของจังหวัดตาก โดยมีเป้าหมายการสร้างจังหวัดตาก เป็น “City of Avocado” และผลักดันให้เป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัด

อย่างไรก็ตาม การผลิตอะโวคาโดของเกษตรกรยังประสบปัญหาด้านการคัดเลือกพันธุ์ดี ผลผลิตด้อยคุณภาพจากต้นที่ปลูกจากเมล็ด ขาดองค์ความรู้ในการขยายพันธุ์ การจัดการพันธุ์ดี เกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการผลิต การปฏิบัติดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว มีการจัดการสวนไม่ถูกวิธี เข้าไม่ถึงองค์ความรู้ ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นส่งผลถึงการจำหน่ายที่กำหนดราคาไม่ได้ กรมวิชาการเกษตรจึงได้แนะนำเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอะโวคาโดให้แก่เกษตรกร ดังนี้ 

07B42C2B 8A05 4E35 8587 9ED74635D8DE

การคัดเลือกพันธุ์ดี โดยวิธีการขยายพันธุ์แบบเสียบยอด คัดเลือกสายต้นที่เหมาะสำหรับเป็นต้นตอพันธุ์ดี จากสายต้นอะโวคาโดที่มีลักษณะดีจากต้นที่ปลูกจากเมล็ด โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือก รสชาติมันปริมาณเนื้อมากกว่า 65% เปลือกหนามากกว่า 0.02 เซนติเมตร เป็นที่ต้องการของตลาด ขยายพันธุ์อะโวคาโดพันธุ์ดีที่คัดเลือกได้โดยปรับเปลี่ยนต้นที่ปลูกจากเมล็ดที่มีผลผลิตและคุณภาพไม่ดีเป็นพันธุ์ดีที่คัดเลือกได้ หรือเปลี่ยนเป็นพันธุ์การค้า พันธุ์ต่างประเทศที่ตลาดต้องการ ด้วยการเสียบยอดพันธุ์ดีกับต้นตอที่ปลูกจากเมล็ด 

EC2A3025 AF5B 4D21 8969 E904C040CD96

การป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในอะโวคาโด สำรวจการระบาด และป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในอะโวคาโด โดยใช้ สารสไปนีโทแรม อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นสลับกับ อิมิดาโคลพลิด อัตรา 8 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร และ ปิโตรเลียม ออล์ 

การจัดการทรงพุ่มอะโวคาโด โดย ตัดแต่งกิ่งอะโวคาโดแบบเปิดกลางซึ่งเป็นวิธีการตัดแต่งกิ่งที่ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ตัดกิ่งไม่สมบูรณ์ กิ่งแคบ กิ่งเป็นโรค ทำให้ได้รับแสงเต็มที่ กิ่งมีการเจริญเติบโตดี ได้ผลผลิตสูง

ศึกษาช่วงอายุเก็บเกี่ยวของอะโวคาโดพันธุ์การค้าในแหล่งปลูกต่างๆ ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่สูง รวมถึงการจัดการพันธุ์ปลูกให้ผลผลิตออกตรงตามความต้องการของตลาด

การควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าโดยใช้ชีวภัณฑ์ ที่ผลิตได้จากเชื้อ Bacillus subtilis และการใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา เชื้อ Bacillus subtilis 5102 สามารถรักษาโรครากเน่าโคนเน่าของอะโวคาโดซึ่งเป็นโรคชนิดเดียวกันที่เกิดกับทุเรียน วิธีการรักษาโดยลอกเปลือกบริเวณที่เป็นโรคและทาด้วยผลิตภัณฑ์ผงเชื้อB. subtilis 5102 จำนวน 4 ครั้ง รวมทั้งใช้เข็มฉีดเชื้อ B. subtilis 5102 จำนวน 1 ครั้ง และใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา ราดรอบโคนต้น

26E50282 C7BE 4E9D A9B1 85B782123538

การป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น โดยใช้วิธีผสมผสาน สำรวจการเข้าทำลาย การวางไข่ สังเกตจากขุยไม้ซึ่งเป็นมูลของหนอนที่ขับถ่ายออกมาระหว่างกัดกินในเปลือกไม้ ถ้าพบการระบาด ทำการกำจัดตัวเต็มวัย โดยใช้ไฟส่องจับตอนกลางคืน ใช้ตาข่ายดัก จับตัวเต็มวัยตอนกลางวัน พ่นสารฆ่าแมลง ฉีดพ่นเข้าในรูหนอน  ป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ ตัวหนอนเจาะกัดกินผล โดยดูแลรักษาแปลงปลูกให้สะอาด ตัดวงจรชีวิตและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง แขวนกับดักเมธิลยูจินอลผสมมาลาไธออน 83% อีซี อัตรา 4:1 ใต้ทรงพุ่ม ใช้เหยื่อพิษ และห่อผล

139C920F F02C 4BDD 8CB9 E613612EB17C

การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกวิธี การเก็บเกี่ยวผลแก่ มีวิธีการสังเกต ดังนี้ 

ใบเลี้ยงที่ขั้วผล เปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเขียว-เหลือง หรือเหลืองแก่ เส้นใบเข้ม มีลวดลายเด่นชัด ขั้วผลเปลี่ยนสีเขียว-เหลือง หรือเหลืองเข้มเมื่อเปิดขั้วผลจะมีสีเหลืองอ่อนที่รอยต่อของขั้วผลกับผล ผิวผลจะนูนขรุขระเด่นชัด บางพันธุ์สีเขียวเข้มเป็นมัน บางพันธุ์เปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ สีแดงหรือเหลืองมีจุดประสีน้ำตาลตามผิวผล .เมื่อสุกผลจะนิ่มหรือเปลี่ยนสี บ่มส่วนมากไม่เกิน 2-5 วัน  เมื่อผ่าผล เยื้อหุ้มเมล็ดด้านในเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเมล็ดจะสีน้ำตาลเข้ม บางพันธุ์เมื่อเขย่าผลจะมีเสียงคลอนของเมล็ด นับอายุผล ผลจากต้นเดียวกันจะสุกแก่ไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับช่วงการผสมดอกและติดลูก การเก็บผลทั้งต้นจึงต้องทยอยเก็บเฉพาะผลแก่

928D94BC 227B 42FF 80DC 9686FDF53207

“การใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตอะโวกาโด สูงถึง 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ (25 ต้น/ไร่)  ซึ่งสูงกว่ากรรมวิธีเดิมของเกษตรกรที่ให้ผลผลิตเพียง 2,500 กิโลกรัมต่อไร่  รวมทั้งการทำลายของโรครากเน่าโคนเน่า  เพลี้ยไฟ  และหนอนเจาะลำต้นลดลงมากกว่า 50%  นอกจากนี้ ผลผลิตตามเทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตร มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากวิธีเกษตรกร 50%  ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคา 50-120 บาท/กก. ในขณะที่กรรมวิธีเดิมของเกษตรกร จำหน่ายได้ราคา 15-20 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตด้อยคุณภาพจากการปลูกต้นเพาะเมล็ด ทำให้จำหน่ายผลผลิตได้เพียงบางต้น  ซึ่งองค์ความรู้ของกรมวิชาการเกษตรตอบโจทย์ “City of Avocado” ของจังหวัดตากและสามารถที่จะผลักดันให้เป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดได้ในที่สุด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

0C6FC3FA 7886 4467 A0EC 0A9B0B85FA4A