นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น เนื่องจากมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและการซื้อขายที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะตอนนี้ที่ราคาขายของคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์
หลายคนจึงเริ่มมีคำถามว่าต้นไม้แบบไหน พันธุ์ใด ชนิดใด สามารถแปลงคาร์บอนเครดิตมาเป็นมูลค่าเงินให้กับผู้ปลูกในอนาคตได้ ซึ่งแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลิต “คาร์บอนเครดิต” ไม่ได้มีเพียงภาคป่าไม้และพื้นที่สีเขียวเท่านั้น หากยังมีภาคการเกษตรที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแปลงปริมาณการกักเก็บเป็นเครดิตที่สามารถนำไปซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนในตลาดคาร์บอนได้
ปัจจุบันมีพืชเกษตรหลายชนิดที่ถูกนำมาประเมินหาปริมาณการสะสมคาร์บอน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน ลำไย และไม้ยืนต้นอื่น ๆ โดยยางพาราถือเป็นพืชเกษตรที่มีศักยภาพสูงในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากลำต้นของต้นยางพารามีลำต้นหลักเพียงต้นเดียว ไม่มีการแตกนางหรือแตกกอ ทั้งยังมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็ว จึงมีมวลชีวภาพแปรผันตรงตามอายุของยางพารา
เมื่อต้นยางพาราอายุมากขึ้นมวลชีวภาพจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปริมาณมวลชีวภาพมีผลต่อศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนและอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในลักษณะแปรผกผันตามอายุของยางพารา ดังนี้
-ยางพาราอายุ 1-5 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.07 ตันต่อไร่ต่อปี
-อายุ 6-10 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.34 ตันต่อไร่ต่อปี
-อายุ 11-15 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.21 ตันต่อไร่ต่อปี
-อายุ 16-20 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 1.08 ตันต่อไร่ต่อ
-อายุ 21-25 ปี สามารถกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 0.96 ตันต่อไร่ต่อปี
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวย้ำว่า ในตอนนี้ กยท. ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่การดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสวนยางพาราอยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. ประมาณ 22 ล้านไร่ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ หากจะให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ก๊าซต่าง ๆ ที่ทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอน) ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ต่อปี และหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้
สำหรับสถานการณ์ตลาดคาร์บอนในประเทศไทย ปัจจุบันมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 อยู่ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ TGO เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ซึ่งปัจจุบันการขายคาร์บอนเครดิตยังเกิดขึ้นไม่มาก