สธ.เผยแนวทางขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ปี 66 สร้างความรอบรู้ -บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ปีงบประมาณ 2565 ขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเห็นผล 4 ด้าน ทั้งเพิ่มการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพของผู้ป่วย การพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม การคุ้มครองผู้บริโภค การปกป้องกลุ่มเปราะบาง ส่วนปีงบประมาณ 2566 จะเพิ่มเรื่องการสร้างความรอบรู้ด้านกัญชา และการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ

IMG 61289 20221105084931000000 1
นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล

นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา ได้เน้น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเข้าถึงยากัญชาที่มีคุณภาพของผู้ป่วย การพัฒนาวิจัยและนวัตกรรม การคุ้มครองผู้บริโภค และการปกป้องกลุ่มเปราะบาง ซึ่งผลการดำเนินงานถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยากัญชาที่มีคุณภาพ มีผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 154.38 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 นอกจากการขับเคลื่อนใน 4 ประเด็นเดิม จะเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็นสำคัญ คือ การสร้างความรอบรู้ด้านกัญชา และการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ

โดยแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขากัญชา เขตสุขภาพ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กองบริหารการสาธรณสุขและกรมวิชาการ คือ กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสุขภาพจิต จะร่วมกันทำการวิจัยเพื่อขยายกลุ่มโรคและเสนอเข้าสู่สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้นและไม่เสียค่าใช้จ่าย

เช่น กรมการแพทย์ ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (International Medical Cannabis Research Center: IMCRC) และจัดทำแพลตฟอร์มการวิจัยให้ทุกหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมใช้ โดยมีการลงนามความร่วมมือกับประเทศเนเธอร์แลนด์ไปแล้ว และกำลังหารือร่วมกับประเทศมาเลเซีย ส่วนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะดำเนินการวิจัยกัญชาทางการแพทย์แผนไทยเพื่อสนับสนุนการใช้โดยเฉพาะในหน่วยปฐมภูมิและจะปรับสถานะน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา ในบัญชียาหลักแห่งชาติจากบัญชี 3 มาเป็นบัญชี 1 เพื่อให้สามารถสั่งจ่ายได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าใช้ได้ผลดี และช่วยแก้ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของประชาชน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนและจำหน่ายให้สถานพยาบาลได้

นอกจากนี้ เขตสุขภาพ สถาบันกัญชาทางการแพทย์และกองบริหารการสาธารณสุข จะร่วมกันจัดทำตัวชี้วัดการจัดการความรู้และวิจัยกัญชา กำหนดให้แต่ละเขตสุขภาพจะมีงานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่อง ซึ่งจะทำให้มีองค์ความรู้มากขึ้นในการนำมาใช้กับผู้ป่วย

สำหรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกัญชาทางการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้นำยาตามองค์ความรู้ดั้งเดิมมาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้และยังคงประสิทธิผลในการรักษา เช่น ทำเป็นครีม ยาผงละลายน้ำ หรือพัฒนายาเม็ดให้แตกตัวในลำไส้เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหารและออกฤทธิ์ได้นานขึ้น เป็นต้น

ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการศึกษาวิจัยลักษณะทางพันธุกรรมและเคมีของกัญชาสายพันธุ์ไทย 4 สายพันธุ์หลักที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองสายพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ไทยมีสายพันธุ์กัญชาที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ รวมถึงจะพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชาสายพันธุ์ไทยให้ภาคเอกชนต่อไป

ส่วนการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะมี อสม. เป็นแกนนำเฝ้าระวังและให้ข้อมูลกัญชาที่ถูกต้องกับผู้ป่วย รวมถึงกรมการแพทย์และกรมสุขภาพจิต จะติดตามผลกระทบจากการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ผ่านฐานข้อมูลของกรมและของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานจะร่วมกันเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสมดุลของการใช้กัญชาทางการแพทย์และความปลอดภัยของประชาชน โดยจะเตรียมการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อรองรับการเปิดประเทศต่อไป