เตือนชาวสวนลำไยช่วงติดผลให้ระวัง หนอนเจาะขั้วผลและราน้ำฝน ทำลายผลผลิต

กรมวิชาการเกษตร เตือน ในช่วงนี้ “ลำไย “อยู่ในช่วงติดผล ขอให้ชาวสวนลำไยเฝ้าระวังการเข้าทำลายของ “หนอนเจาะขั้วผล” โดยหนอนจะเริ่มเข้าทำลายเมื่อลำไยเริ่มติดผลได้ประมาณ 1 เดือนจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ขณะผลลำไยยังมีขนาดเล็กน้ำหนักช่อน้อย ช่อผลลำไยอยู่ในสภาพชูขึ้น ผีเสื้อจะวางไข่อยู่ส่วนปลายของผลลำไย เมื่อหนอนฟักออกจากไข่ก็จะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในผล มองดูภายนอกไม่เห็นรอยทำลาย เมื่อผ่าดูจึงเห็นรอยที่ถูกหนอนทำลาย ทำให้ผลที่ถูกทำลายไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ผลที่ถูกทำลายจึงร่วงหล่นหมด และในขณะที่ผลลำไยมีขนาดโตขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นช่อผลโค้งลง ผีเสื้อจะมาวางไข่อยู่บริเวณใกล้ขั้ว ดังนั้นจึงพบหนอนหรือมูลหนอนอยู่ที่ขั้วผลเสมอ ทำให้ผลที่ถูกทำลายในช่วงนี้ร่วงหล่นได้ง่าย โดยมองจากภายนอกไม่เห็นรอยทำลายแต่ถ้าสังเกตดูให้ดีบริเวณใกล้ขั้วอาจพบรูเล็ก ๆ ปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นรูที่หนอนเจาะออกมาเข้าดักแด้ภายนอก

314605826 463331725946047 2424012958875604751 n
หนอนเจาะขั้วผล

การป้องกันกำจัดหนอนเจาะขั้วผล ให้รวบรวมผลลำไยที่ร่วงหล่นบริเวณโคนต้น จากการทำลายของหนอนเจาะขั้วผล นำไปทำลายนอกแปลงปลูก พร้อมกับเก็บรวบรวมดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผลบนใบ ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนแล้วนำไปทำลาย หากมีการระบาดของ หนอนเจาะขั้วผล รุนแรง พ่นด้วยสารฆ่าแมลง เช่น อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% WP อัตรา 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ผลผลิตลำไยยังอาจถูกทำลายจากโรคใบไหม้ผลเน่าโรคราน้ำฝน โดยให้เกษตรกรสังเกตอาการที่ใบ กิ่ง และยอด ใบอ่อน กิ่งอ่อน และยอดอ่อนมีอาการไหม้สีน้ำตาลเข้ม มักพบเส้นใย สีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคขึ้นปกคลุม ต่อมาส่วนที่เป็นโรคจะแห้งอย่างรวดเร็ว หากโรคระบาดรุนแรง จะทำให้ใบและยอดไหม้ทั้งต้น ส่วนอาการที่ผล เปลือกของผลและขั้วผลมีสีน้ำตาลเข้ม ในระยะที่ผลยังแก่ไม่เต็มที่ผลจะแตกและเน่า มักพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคขึ้นฟูคลุม และผลร่วงในที่สุด

วงจรชีวิต

ระยะไข่ ผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวบนผล ลักษณะกลมรีสีเหลืองอ่อน ระยะไข่ 2.5-3.5 วัน

ระยะหนอน เมื่อฟักจากไข่ใหม่ ๆ ลำตัวยาวประมาณ 1 มม.สีขาวนวล กะโหลกที่ส่วนหัวสีน้ำตาล ในประเทศไทยมีรายงานว่าหนอนมี 3 วัย แต่ละวัยใช้เวลาประมาณ 4.3, 5.7 และ 5.3 วัน ตามลำดับ แต่ที่ประเทศจีนรายงานว่าการศึกษาในช่วงอุณหภูมิ 20-32°C หนอนมี 5 วัย หนอนวัย 1, 2, 3, 4 และ 5 ใช้เวลา 4.50-1.17, 2.09-1.40, 2.84-1.00, 3.41-1.18 และ 3.00-1.37 วัน ตามลำดับ หนอนโตเต็มที่ลำตัวยาว 8-10 มม.

ระยะดักแด้ ก่อนเข้าดักแด้จะสร้างรังดักแด้ห่อหุ้มตัวเอง และเข้าดักแด้ที่ใบแก่ หรือใบที่ร่วงหล่นบนพื้นดิน หรือตามใบวัชพืช ขนาดดักแด้ กว้าง 1.0 ยาว 7.1 มม.ระยะดักแด้ 7-8 วัน

ระยะตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก สีน้ำตาลปนเทา เมื่อกางปีกกว้าง 12.0-15.0 มม. ลำตัวยาว 6.0-7.0 มม. ปลายปีกมีสีน้ำตาลปนเหลือง ปีกคู่หลังเป็นพู่คล้ายขนนกสีเทาเงิน หนวดมีสีเงิน


แนวทางในการป้องกันกำจัด แนะนำให้หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะช่วงฝนตกชุก สภาพอากาศมีความชื้นสูง หากพบโรค ตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 68% WG อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน โดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต อย่างน้อย 15 วัน ทำความสะอาดเครื่องมือที่ใช้ตัดส่วนของพืชที่เป็นโรคทุกครั้ง ก่อนนำไปใช้กับส่วนของพืชปกติหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีและแสงแดดส่องถึง เป็นการลดความชื้น ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค